ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สักวันหนึ่งและหวังว่าในไม่ช้านี้ Covid-19 จะอยู่ข้างหลังเรา แต่แผลเป็นของคนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หมอและพยาบาลที่ทำงานกันอย่างหนัก ผู้คนอีกนับล้านที่ต้องเผชิญภาวะโดดเดี่ยวและแยกตัวนานนับเดือนสิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ในใจเราไปอีกนาน” ส่วนหนึ่งจากปาฐกถากล่าวปิดในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 74 ของ นายเทดรอส อัดฮานอม ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่สะท้อนความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตที่มาพร้อมกับการแพร่ระบาดของไวรัสนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ผลวิจัยจากทั่วโลก ก็บ่งชี้ว่าผู้คนพยายามให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ จนผ่านมาเกือบ 2 ปี โลกเริ่มเห็นสัญญาณว่า “สังคมเหนื่อยล้ากับโรคระบาด”

ความเหนื่อยล้าไม่เพียงแต่จะทำให้สุขภาพจิตเราอ่อนแอลง แต่ยังส่งผลต่อโรคอื่นๆ อีกด้วย เช่น โรคซึมเศร้า และส่งผลกระทบเชิงลบต่อชีวิตและสังคม  และแน่นอนว่าเราจะต้องอยู่กับมันแบบนี้ไปอีกนานจนกว่าจะพบวัคซีนหรือการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

แต่ระหว่างนี้จะทำอย่างไรให้เราสังคมเรากลับมากระปรี้กระเปร่า และอยู่กับภาวะนี้ได้อย่างมีสุขมากขึ้น

หลายประเทศเช่น สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกามีการศึกษาและออกแนวทางการแก้ไขภาวะเหนื่อยล้าในระดับบุคคล  และการเปลี่ยนแปลงระดับโลกเองนั้น องค์การอนามัยโลกก็ได้ยกประเด็น “สังคมเหนื่อยล้ากับโรคระบาด” ขึ้นเป็นวาระสำคัญระดับโลก และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรปได้เสนอ 4 ยุทธศาสตร์รับมือกับสังคมที่เหนื่อยล้ากับโรคระบาดกับภาครัฐ

โดยมี 4 ข้อด้วยกันคือ 1. เข้าใจประชาชน 2. ให้ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของวิธีแก้ไขปัญหา 3. ให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตของพวกเขาแต่ลดความเสี่ยง 4. ยอมรับประสบการณ์ที่ยากลำบากของประชาชน 

พร้อมด้วย 5 หลักการการทำงาน คือ 1. โปร่งใสและควรให้เหตุผลเบื้องหลังข้อห้ามหรือมาตรการ 2. สร้างมาตรการที่สอดคล้องกันให้มากที่สุด 3. สร้างมาตรการที่ยุติธรรมให้มากที่สุด 4.ประสานงานเพื่อหลีกเลี่ยงข้อมูลที่สับสน 5. พยายามคาดการณ์ในสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ให้มากที่สุด

นอกจากนี้ก็มีตัวอย่างที่หลายประเทศ พยายามปรับตัวหาวิธีเพื่อปรับและเปลี่ยนชีวิตให้อยู่กับ Covid-19 ได้ เช่น กระทรวงสาธารณสุขประเทศฝรั่งเศษจัดทำแบบสำรวจเชิงลึกเรื่องพฤติกรรมของประชาชนกับการปฏิบัติตามาตรการของรัฐ และถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ที่เห็นความเป็นจริงในชีวิตพวกเขาภายใต้มาตรการทางสาธารณสุข และใช้สะท้อนเป็นข้อมูลไปยังภาคนโยบายเพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงต่อไป

รัฐบาลโรมาเนียมีการทำแบบสำรวจความเห็นของประชาชนต่อการกลับมาเปิดโรงเรียนในภาวะโรคระบาดเพื่อนำไปใช้กับยุทธศาสตร์การเปิดโรงเรียนของประเทศ และผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่สนับสนุนให้เปิดโรงเรียนสำหรับเยาวชนและเด็กเล็ก นอกจากนี้ยังพบว่าการศึกษาช่วยถ่ายทอดมาตรการภาครัฐ สามารถสะท้อนผลกระทบเชิงบวกและลบได้

สอดคล้องกับรัฐบาลเดนมาร์กที่ชวนเจ้าหน้าที่โรงเรียนอนุบาลมาวางแผนการเปิดโรงเรียนอนุบาลอย่างปลอดภัย พร้อมทั้งปรับใช้มาตรการป้องกันไวรัสให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละอนุบาล สมาคมปอดจากประเทศสวีเดนจัดการประกวดไอเดียของกลุ่มเยาวชนที่จะทำอย่างไรให้เราใช้เวลาร่วมกันอย่างปลอดภัยท่ามกลางโรคระบาด หรือรัฐฟอริดา สหรัฐอเมริกาจัดทำพันธะสัญญาประชาคมที่จะช่วยกันลดการแพร่ระบาดของไวรัสในระดับท้องถิ่นเป็นต้น

เจ็บนี้อาจจะอีกนาน แต่ความท้าทายของมนุษย์คือพวกเราจะผ่านความเจ็บปวดนี้ ด้วยการปรับตัวให้เป็นสุขได้มากอย่างไร

เรียบเรียงข้อมูลจาก Pandemic fatigue Reinvigorating the public to prevent COVID-19 (2020)
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "นิตยสารสานพลัง" ฉบับเดือน ส.ค. 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
https://www.nationalhealth.or.th/sites/default/files/e_book/no108/index.html