ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.หนุนภาคประชาชนหนุนตั้ง "ศูนย์พักคอยชุมชน" หรือ "Community Isolation" ทั่วประเทศ พร้อมกลไกเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดร่วมขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ ยก "นครปฐมโมเดล" ต้นแบบการสานพลังในระดับจังหวัด


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประสานความร่วมมือองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและสุขภาพ หนุนเสริมการจัดระบบดูแลตนเองในชุมชน (Community Isolation : CI) ทั่วประเทศ โดยจะขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยยังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มากกว่าวันละ 1.5 หมื่นราย และผู้ป่วยหนักสีแดงเข้มกำลังสร้างปัญหาและสั่นคลอนระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อเชื้อโควิด-19 กระจายตัวจาก กทม. ออกไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ทุกจังหวัดจึงจำเป็นต้องเร่งจัดระบบการดูแลผู้ติดเชื้อขึ้นในชุมชน ทั้งรูปแบบการดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation : HI) และ Community Isolation และจัดระบบข้อมูล การสื่อสาร การส่งต่อเชื่อมกับระบบบริการหลัก เช่น โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.ประทีป กล่าวว่า Home Isolation และ Community Isolation เชื่อมกับระบบบริการที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบาย ถือเป็นแนวทางที่จำเป็นและถูกต้อง สอดคล้องกับสถานการณ์ของไทย ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่ได้จัดระบบขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ต้องเร่งทำต่อคือเพิ่มการมีส่วนร่วมและการจัดการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อช่วยผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ยังตกค้างอยู่ตามบ้านเรือนและชุมชน

"สิ่งที่ สช. และภาคีเครือข่ายจะร่วมกันขับเคลื่อน คือการหนุนเสริมให้เกิดการจัดตั้งและบริหารศูนย์พักคอย หรือ Community Isolation โดยการจัดการของชุมชนให้เพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด ภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมระดับชุมชน" นพ.ประทีป กล่าว

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตัวอย่างจาก จ.นครปฐม ได้ลุกขึ้นมาสานพลังทุกภาคส่วนภายในจังหวัดเพื่อจัดกระบวนการรับมือวิกฤต โดยมีการจัดทำมาตรการของประชาชน เช่น ระบบข้อมูล การสื่อสาร การส่งต่อ การตั้งกองทุนจัดหาเครื่องวัดและถังออกซิเจน สนับสนุนการจัดตั้งดูแล Home และ Community Isolation

นอกจากนี้ยังมีการให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและอื่นๆ เพื่อหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐและหนุนเสริมมาตรการของโรงพยาบาลจนเกิดเป็นความเข้มแข็งระดับพื้นที่ นครปฐมโมเดลจึงถือเป็นรูปธรรมที่น่าสนใจ เป็นต้นแบบการสานพลังที่ควรค่าแก่การขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ

"ขณะนี้ สช. ได้ร่วมกับภาคีสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขยายและประยุกต์ใช้นครปฐมโมเดล เป็นต้นแบบการทำงานระดับพื้นที่ ตลอดจนถอดบทเรียนและองค์ความรู้จากการจัดทำ Home Isolation และการจัดตั้ง Community Isolation ใน กทม. และจังหวัดอื่น เพื่อประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศด้วย" นพ.ปรีดา กล่าว

ด้าน นพ.วิโรจน์ รัตนอมรสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ Home และ Community Isolation จะกลายมาเป็นระบบสำคัญในการรับมือโควิด-19 ของชุมชนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยหลักคิดสำคัญคือการให้ชุมชนเป็นฐานในการบริหารจัดการและจัดบริการภายใต้การสนับสนุนของระบบบริการของรัฐ

นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า เมื่อรู้ตัวผู้ติดเชื้อแล้ว จะต้องแยกให้เร็ว รักษาให้เร็ว และเฝ้าระวังผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ โดยมีอาสาสมัครในชุมชนเป็นกำลังสำคัญในการดูแล เชื่อมต่อกับหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่จะช่วยเติมความรู้ รวมถึงได้รับการสนับสนุนเรื่องของยา และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เช่น เครื่องวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน

"ทางนี้จะเป็นทางที่ดีที่สุดในสถานการณ์ที่หน่วยบริการรับไม่ไหว เราต้องเอาระบบบริการที่ไม่มีขีดจำกัดเข้าไปอยู่ในชุมชน เพราะผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่จะเป็นสีเขียว มีอาการน้อย ชุมชนสามารถดูแลช่วยกันรักษาและให้กำลังใจผู้ติดเชื้อและประชาชนภายในชุมชนได้เลย หรือหากมีความจำเป็นก็สามารถส่งต่อไปรักษาตามระบบที่เชื่อมโยงกันอยู่แล้ว" นพ.สสจ.นครปฐม กล่าว