ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เปิดช่องทางออนไลน์เพิ่มผ่านเว็บไซต์ ให้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ Home-Community Isolation ได้ด้วยตัวเอง หลังสายด่วน 1330 มีปริมาณสายจำนวนมาก


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ได้เพิ่มช่องทางออนไลน์ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถกรอกข้อมูลลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation) ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th

ทั้งนี้ จะสามารถลงทะเบียนได้ทั้งผู้ที่เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ หรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ ซึ่งหากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่สะดวกลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ กรณีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จะยังสามารถโทรมาที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 หรือสิทธิประกันสังคม โทร 1506 กด 6 ได้เหมือนเดิม

สำหรับผู้ที่ลงทะเบียน จะได้รับการประเมินอาการด้วยวิดิโอคอลวันละ 2 ครั้ง อาหาร 3 มื้อ พร้อมกับได้รับปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ ส่วนในกรณีที่อาการแย่ลงจะมีการประสานส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล โดยจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อประคองอาการในระหว่างประสานรอเตียงผู้ป่วย

นพ.จเด็จ กล่าวว่า เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบการดูแลและประสานงานนำส่งผู้ป่วย โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงไม่ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งเฉพาะสายด่วน สปสช. 1330 ที่ผ่านมามีจำนวนการโทรเข้าสูงถึงกว่า 5,000 ครั้งต่อวัน แม้ว่าจะเพิ่มจำนวนคู่สายและจำนวนเจ้าหน้าที่ให้บริการ และทำงานให้บริการกันอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม

"ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการโทรเข้ามาเพื่อเข้าระบบดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน โดยโทร 1330 กด 14 จะใช้เวลารอสายนานมาก เราจึงเปิดช่องทางออนไลน์ดังกล่าว นอกจากนี้ สปสช.ขอเชิญชวนคลินิกเอกชนในพื้นที่ กทม. ร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน เพราะขณะนี้มีผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง ที่รอคอยการเข้าสู่การติดตามดูแลในระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนจำนวนมาก" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในกลุ่มผู้ติดเขื้อสีเขียวหรือกลุ่มไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรงนั้น สปสช.ได้มีการประสานคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาล เพื่อจับคู่ดูแลที่บ้าน ส่วนกลุ่มที่สภาพที่อยู่อาศัยไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ ก็จะเป็นการดูแลในระบบชุมชน ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในการเฝ้าระวังอาการและติดตาม