ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจากที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาตรการการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) เพื่อลดวิกฤตเตียงในขณะนี้ ส่งผลให้ระบบการแพทย์ทางไกล หรือ “Telemedicine” นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างสถานบริการ-ผู้ป่วย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังโหมกระหน่ำในปัจจุบัน

Telemedicine ถูกนำมาใช้ในหลายสถานพยาบาลในขณะนี้ เพื่อช่วยให้แพทย์ พยาบาล สามารถพูดคุยและสังเกตุอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ขณะเข้ารับการแยกกักตัวที่บ้านหรือในชุมชนได้ ผ่านการพูดคุยผ่านทางระบบออนไลน์

“The Coverage” มีโอกาสพูดคุยกับ นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท พรีซีชันไดเอทซ์ จำกัด หรือ Dietz.asia หนึ่งในบริษัท Health-Tech ขอประเทศไทย ถึงการเข้ามามีส่วนร่วมวางระบบ Telemedicine สำหรับการทำ Home isolation และ Community isolation ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศโดยไม่คิดค่าบริการ และในปัจจุบันก็ได้มีการขยายระบบดังกล่าวไปแล้วร่วม 50 โรงพยาบาลทั่วประเทศ

สานฝันช่วยเพื่อนมนุษย์ ผ่านการทำระบบ Telemedicine

นายพงษ์ชัย เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสได้ทำ Cove-19 Trackers สำหรับโรงพยาบาลเพื่อช่วยดูแลผู้ป่วย รวมไปถึง ANSQ หรือพื้นที่กักกันทางเลือกระดับประเทศ สำหรับชาวต่างชาติและชาวไทย อย่างไรก็ตามส่วนนี้ได้เงียบไป เนื่องจากเมื่อปลายปีที่แล้วการแพร่ระบาดยังไม่สูงเช่นในปัจจุบัน

กระทั่งเข้าสู่ช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่ระบบดังกล่าวมีโอกาสกลับมาใช้อีกครั้ง ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 จึงนำระบบดังกล่าวมาใช้โดยเริ่มในโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดที่เพิ่มขึ้น ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งที่ดูแลอยู่นั้นขยายไปสู่การทำ Home isolation และ Community isolation  เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มากขึ้น

“ผมเองทำงานด้านซอฟต์แวร์เฮ้าส์มาก่อน และเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมาผมก็มาโฟกัสด้านสุขภาพ เพราะอยากตอบสนองความต้องการในช่วงเริ่มต้นทำงาน โดยอยากจะทำอะไรให้สังคมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เหมือนกับที่เคยคิดเอาไว้” นายพงษ์ชัย กล่าว

นายพงษ์ชัย เล่าต่อว่า สำหรับรูปแบบบริการของไดเอทซ์อย่าง Covid-19 Home Isolation Telemedicine จะใช้ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งจะมีราคามาตรฐานทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงมีระบบบริการสำหรับใช้ในองค์กรหรือโรงงาน เพื่อดูแลและเก็บข้อมูลสุขภาพของพนักงาน ซึ่งก็จะมีราคามาตรฐานเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ระบบ Covid-19 Home Isolation Telemedicine นี้ ทางบริษัทได้ให้บริการฟรีแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ ได้นำระบบดังกล่าวไปใช้เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้ดีขึ้น ซึ่งระบบนี้ผู้ป่วยจะสามารถสังเกตอาการของตนเองได้ ไม่ใช่แค่พบแพทย์แล้วจบไป

“มีอยู่เคสหนึ่ง ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านและต้องสังเกตหรือมอนิเตอร์ตัวเอง ซึ่งเขาต้องวัดออกซิเจนในเลือดส่งให้โรงพยาบาลวันละ 2 ครั้ง ปรากฏว่าพบค่าออกซิเจนในเลือดตกในช่วงเย็น เมื่อพยาบาลเห็นข้อมูลก็เตรียมเตียง และรถ รวมไปถึงประสานให้ผู้ป่วยเข้ามาตรวจในโรงพยาบาล อันนี้ก็ทำให้เห็นว่าระบบของเราสามารถมอนิเตอร์ผู้ป่วยได้จริง” นายพงษ์ชัย กล่าว

วางศูนย์ Telehealth Center ในรพ. - ดูแลผู้ป่วยครอบคลุม

นายพงษ์ชัย เล่าต่อว่า แน่นอนว่าภาครัฐเองมีระบบ Telemedicine อยู่แล้ว แต่ของทางบริษัทจะสามารถมอนิเตอร์ พูดคุย ติดตามผลผู้ป่วย มากไปกว่านั้นยังเป็นระบบที่เอื้อต่อประชาชนให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น เพียงแค่แอดไลน์ที่สถานบริการกำหนด จากนั้นก็จะให้ชื่อและรหัสผู้ใช้งานให้กับผู้ป่วย เพื่อที่จะสามารถใช้งานได้

“แม้มีมือถือเครื่องเดียวก็สามารถใช้งานได้ ในกรณีที่อาศัยกัน 6 คนก็สามารถรายงานร่วมกันได้ เพียงแค่ล็อคอิน ล็อคเอาท์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดที่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงระบบของรัฐก็สามารถใช้ได้เช่นกัน”

“ผมเป็นคนทำแอปพลิเคชันมาก่อน เคยทำแอปฯ เบาหวาน แต่เมื่อนำลงไปใช้จริงทั่วประเทศ โดยเฉพาะในชาวบ้านบางกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เขาไม่สามารถลงเป็นแอปฯ ได้ เนื่องจากทำไม่เป็น ดังนั้นจึงยกเลิกการทำแอปฯ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่จะเข้าถึงไลน์ได้มากกว่า” นายพงษ์ชัย กล่าว

นายพงษ์ชัย กล่าวอีกว่า บริษัทไดเอทซ์ มีโอกาสได้ทำศูนย์ Telehealth Center ให้กับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดอยุธยา ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา นับเป็นศูนย์ Telehealth Center แห่งแรกสำหรับโรงพยาบาลภาครัฐของไทย เนื่องจากเห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเริ่มทำระบบดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ ทางบริษัทได้จัดทำเป็นห้องที่วางระบบ Telehealth ให้กับโรงพยาบาล โดยมีระบบอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้งานได้อย่างมีเสถียรภาพ และแพทย์เองก็สามารถพูดคุยหรือติดต่อผู้ป่วยได้รวดเร็ว ดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยกลุ่มโรคอื่นๆ

ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันทางบริษัทได้มีการขยายระบบ Covid-19 Home Isolation Telemedicine ไปแล้วกว่า 50 แห่งทั่วประเทศโดยไม่คิดค่าบริการ ซึ่งนายพงษ์ชัย คาดว่าจะมีผู้ป่วยที่ใช้งานอยู่ในระบบราว 5 พันราย

“เราไปในฐานะเทรนเนอร์ เหมือนครูสอนให้กับคนของโรงพยาบาลเพื่อให้เขาใช้เป็น และเมื่อใช้เป็น เราก็จะพยายามเปิดระบบให้ได้ภายใน 1 วัน ด้วยความที่ระบบเรานั้นมีพร้อมอยู่แล้ว ถ้าโรงพยาบาลใดอยากได้ตัวระบบของเราไปช่วยเพื่อลดความเสี่ยง ลดภาระงานให้กับบุคลากร เรายินดีช่วยโดยไม่คิดเงิน” นายพงษ์ชัย กล่าว