ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย แนะ 9 วิธีเตรียมตัวสำหรับผู้สูงอายุเมื่อไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลุ่มผู้สูงอายุนับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความสำคัญกับการได้รับบริการฉีดวัคซีนของกลุ่มผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง 

ทั้งนี้ก่อนผู้สูงอายุจะเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรเตรียมตัวให้พร้อม ดังนี้ 1. พักผ่อนให้เพียงพอ 2. กินอาหารและยาให้เรียบร้อย 3. วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี งดชา กาแฟ หรือของที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 

4. ให้ญาติหรือลูกหลานไปด้วยอย่างน้อย 1 คน 5.  นำบัตรประชาชน บัตรประจำตัวผู้ป่วย และยาที่กินประจำไปด้วย  6. ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันงดใช้แขนข้างที่ฉีด ไม่เกร็งและยกของหนัก 7. การฉีดวัคซีนโควิด ควรห่างจากการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน 

8. กรณีกินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ก็ให้กินยาตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที 9. ศึกษาและทำความเข้าใจกับการฉีดวัคซินในครั้งนี้ว่าอาจจะเกิดอาการข้างเคียงหลังรับวัคซินเพื่อสร้างความเข้าใจก่อนไปรับบริการ เช่น อาการที่พึงประสงค์และอาการไม่พึงประสงค์

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หลังการฉีดวัคซีน ผู้สูงอายุต้องปฏิบัติ ดังนี้ 1. นั่งพักสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที 2. ดื่มน้ำมากๆ 3. พักผ่อนให้เพียงพอ 4. งดออกกำลังกาย ยกของหนัก และทำงานหนัก อย่างน้อย 2 วัน หากพบอาการไม่พึงประสงค์ทั่วไป เช่น ปวด บวม แดงร้อน ไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คันบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ท้องเสีย ให้รักษาตามอาการหรือรอให้อาการทุเลาลง ซึ่งส่วนมากจะหายได้เองใน 1-2 วัน 

อย่างไรก็ตาม หากไม่ดีขึ้นควรไปโรงพยาบาล ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่ควรพบแพทย์ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง เหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง มีจ้ำเลือดออกจำนวนมาก ใบหน้าเบี้ยว หรือ  ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และชักหรือหมดสติ ในกรณีที่รุนแรงมาก รีบแจ้ง 1669 และ 1422 ทันที