ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นในแต่ละวัน ส่งผลให้บางโรงพยาบาลเกิด “วิกฤตเตียงเต็ม” เป็นเหตุให้ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกแนวทาง Home isolation หรือแยกกักตัวที่บ้านสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการเพื่อลดปัญหาเตียงเต็ม มากไปกว่านั้นยังทำให้โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการเตียงสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้

ขณะเดียวกัน ยังคงมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สามารถใช้บ้านเป็นที่แยกกักตัวได้ ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการจัดตั้ง Community isolation หรือการแยกกักตัวในชุมชนขึ้นมา เพื่อรองผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชนเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“The Coverage” มีโอกาสพูดคุยกับ พญ.ปิยะธิดา หาญสมบูรณ์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ถึงการทำ Home isolation – Community isolation ซึ่งเป็นมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในต่างประเทศ รวมไปถึงระบบการติดตามอาการที่ให้บริการแบบผู้ป่วยใน การจัดบริการอาหารครบ 3 มื้อ รวมไปถึงตัวเลขของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าโครงการอีกด้วย

‘Home-Community’ isolation ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา

พญ.ปิยะธิดา อธิบายว่า Home isolation หรือการแยกกักตัวที่บ้านจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีสถานที่ที่พักอาศัยที่เหมาะสม สามารถแยกจากคนอื่นได้ มีห้องส่วนตัว มีห้องน้ำส่วนตัว แต่ในกรณีเป็นห้องน้ำรวมก็จะต้องใช้เป็นคนสุดท้าย รวมไปถึงต้องมีการทำความสะอาดหลังจากใช้แล้วทุกครั้ง

สำหรับ Community isolation หรือการแยกกักตัวในชุมชน จะเป็นการการนำผู้ป่วยแยกกักตัวในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งในชุมชน ที่มีระบบบริหารจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม และขยะที่อาจจะเกิดขึ้น เหตุผลที่ต้องมีระบบนี้เนื่องจากมีผู้ป่วยหลายรายที่มีบ้านพักอาศัยที่อยู่กันหลายคนในหนึ่งห้อง ซึ่งทำให้ไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้

พญ.ปิยะธิดา อธิบายต่อว่า จากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยโควิด-19 ต้องรอเตียงอยู่ที่บ้านจำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้านำระบบดังกล่าวมาช่วยก็จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ทั่วถึง และสามารถคัดกรองผู้ที่มีอาการเสี่ยง หรือมีอาการมากเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันที

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ผู้ป่วยที่จะเข้าโครงการทั้งสอง ต้องได้รับดุลยพินิจจากแพทย์ เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีการน้อย อายุน้อยกว่า 60 ปี สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีภาวะโรคอ้วน (ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม)

ใช้ระบบผู้ป่วยใน-ติดตามอาการ

พญ.ปิยะธิดา อธิบายว่า สำหรับผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะใช้เป็นระบบผู้ป่วยใน โดยในระบบจะมีการจัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ถึงบ้าน เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องตรวจวัดออกซิเจนในเลือดแบบปลายนิ้ว เป็นต้น

นอกจากอุปกรณ์ที่ส่งให้นั้น ยังมีทีมบุคลากร คอยสอนให้ผู้ป่วยใช้เครื่องมือ มีระบบติดตามอาการผ่าน  Video call โดยพยาบาลอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ถ้าผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงก็จะมีแพทย์คอยติดตามอาการ มากไปว่านั้นยังมีการจัดอาหาร 3 มื้อให้กับผู้ป่วยที่เข้าโครงการ โดยไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านเพื่อซื้ออาหาร ซึ่งถือเป็นการจำกัดการแพร่ระบาดอีกด้วย

สำหรับในอนาคตก็ยังคงพัฒนาระบบติดตามตัวต่อไป แต่เบื้องต้นก็ต้องขอความร่วมมือจากผู้ป่วยให้ปฏิบัติตามแนวทางที่เตรียมไว้ สำหรับอาหารจัดบริการอาหารให้ผู้ป่วยครบทั้ง 3 มื้อ ส่วนตัวเข้าใจว่าผู้ป่วยจะลดความเคลื่อนไหวลงได้ เพราะว่าเขามาอาหารพร้อมที่บ้าน

“ในต่างประเทศเองระบบทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นมาตรฐานการดูแลโรคติดต่ออยู่แล้ว ก็ในกรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น เราก็ต้องใช้ระบบนี้เพื่อเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง” พญ.ปิยะธิดา กล่าว

จัด 6 โรงพยาบาลดูแลผู้ป่วย – ไม่ขัดต่อกฎหมาย

พญ.ปิยะธิดา ระบุว่า ถ้าดูตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ในข้อ 5 จะพบว่าให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับการแยกกักกัน คุมไว้สังเกต หรือเข้ารับการรักษาตามกระบวนการทางสาธารณสุข ซึ่งทั้งกระบวนการ Home isolation และ Community isolation ก็ได้นำเรื่องเข้าคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ในกรมการแพทย์มีทั้งหมด 6 โรงพยาบาลที่เตรียมพร้อมแล้ว ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตน์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลเมตาประชารักษ์ และสถาบันโรคทรวงอกแห่งชาติ 

นอกจากนี้ ทางกรมการแพทย์ยังได้มีการจัดเตรียมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ ระบบโลจิสติกส์ หรือระบบสื่อสารทั้งหมดด้วย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารักษาด้วยระบบนี้เมื่อเช้านี้ (8 กรกฎาคม 2564) มีทั้งหมด 223 ราย จำหน่าย 54 ราย ส่งต่อรักษาในโรงพยาบาล 11 ราย และคงเหลือ 169 ราย

“ผู้ป่วยที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวสามารถแจ้งผ่านสายด่วน 1668 ได้เลยว่าขอเข้าระบบ Home isolation แต่ในระดับต่อไป ทางโรงพยาบาลก็จะจัดสายด่วนให้กับโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่จะเข้ามาตรงนี้” พญ.ปิยะธิดา กล่าว

ความร่วมมือของผู้ป่วยคือปัจจัยความสำเร็จ

พญ.ปิยะธิดา เล่าว่า ปัจจัยความสำเร็จหลักๆ ก็คือเรื่องของการบริหารจัดการของทางโรงพยาบาล เช่น การติดตามอาการของผู้ป่วย และสัญญาณชีพตามอุปกรณ์ที่ได้มีการส่งไป การส่งอาหาร 3 มื้อเพื่อลดการเคลื่อนไหว - เน้นให้ผู้ป่วยอยู่กับบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสำคัญที่สุดก็คือความร่วมมือของผู้ป่วย รวมถึงความเชื่อมั่นในการดูแลของทีมแพทย์-พยาบาล

นอกจากนี้ การทำ Home isolation – Community isolation  มีหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุน รวมไปถึงการบูรณาการภาครัฐทั้งหมดเข้าด้วยกัน เช่น ในกรณีของ Community isolation นั้นจะมีสำนักงานเขต ระบบสุขาภิบาล ทีมจากกรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัยเข้ามาช่วยกันดูแลตรงนี้ รวมไปถึงภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.)  NGO และคลินิกเอกชนก็เข้ามาให้ความร่วมมือ เช่นกัน

สำหรับปัญหาที่พบส่วนมากในการทำโครงการดังกล่าวจะไม่ค่อยพบกับผู้ป่วยมากนัก เนื่องจากมีสื่อสาร และผู้ป่วยก็ให้ความร่วมมือดีมาก โดยจะมีปัญหาเพียงเรื่องของการส่งตัว เนื่องจากโรงพยาบาลส่วนมากค่อนข้างเต็ม แต่ก็สามารถที่จะบริหารจัดการโดยการนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบรักษาได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง

ไม่ใช่แค่ให้ผู้ป่วยนอนรออย่างเดียว

พญ.ปิยะธิดา บอกว่า การแยกกักตัวที่บ้านไม่ใช่แค่ให้ผู้ป่วยนอนรอเฉยๆ แต่จะมีระบบการติดตามผู้ป่วยทั้งอาการ-สัญญาณชีพ นอกจากนี้ยังมีการพูดคุย-ปรึกษาการรักษา-การปฏิบัติตนเองเมื่อกักตัวที่บ้านจากทีมบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งวิธีลดการแพร่เชื้อให้กับบุคคลในครอบครัว ซึ่งในเรื่องของการสื่อสารจะมีทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้การดูแล และระบบนี้ก็สามารถส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการแย่ลงเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที

จากผลการทำ home isolation หรือการแยกกักตัวที่บ้าน จากประสบการณ์ที่เราทำ-ติดตามไปแล้ว 18 ราย การที่ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์-พยาบาลได้ จะพบว่าคนในครอบครัวไม่มีใครติดเชื้อเลยเพิ่มขึ้น ฉะนั้นถ้าผู้ป่วยให้ความร่วมมืออย่างเคร่งครัดก็สามารถที่จะอยู่ในระบบนี้ได้

สำหรับประชาชนทุกคน มาตรการที่สำคัญที่สุดก็คือการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ ก็จะขอเน้นย้ำมาตรการตรงนี้อีกครั้ง ซึ่งเราก็มุ่งเน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก” พญ.ปิยะธิดา ระบุ