ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังสั่นคลอนระบบสาธารณสุขไทย และตัวเลขผู้ป่วยในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์เตียงในพื้นที่เมืองหลวงอยู่ในอาการบอบช้ำอย่างถึงที่สุด

ในระยะหลังมากนี้ จึงมีการพูดถึงและเริ่มดำเนินการมาตรการผ่องถ่ายผู้ป่วยสู่ต่างจังหวัด โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางจังหวัดต่างๆ ที่มีความพร้อม ต่างประกาศ “อ้าแขนรับ” ผู้ป่วยที่ยังรอเตียงใน กทม. และปริมณฑล ให้สามารถกลับมารักษาตัวตามภูมิลำเนาได้

โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา เป็นโรงพยาบาลแรกๆ ที่ได้ดำเนินการรับผู้ป่วยจากเมืองกรุงกลับมารักษา ซึ่งแม้ว่าขณะนี้สถานการณ์เตียงของโรงพยาบาลใกล้จะถึงขีดจำกัดแล้ว หากแต่โมเดลการดำเนินงาน เป็นสิ่งที่คู่ควรต่อการถ่ายทอดออกสู่สาธารณะ

“The Coverage” ได้พูดคุยกับ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล​มหาราชนครราชสีมา และอดีตประธานแพทย์ชนบท ในเรื่องนี้

รีบตรวจเชื้อ ‘ผึ้งแตกรัง’

นพ.เกรียงศักดิ์ อธิบายว่า เห็นแนวโน้มของปัญหาที่เริ่มเห็นมาตั้งแต่ช่วงวันที่ 26 มิ.ย. 2564 ที่ กทม.และปริมณฑล จะมีการประกาศมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ รวมถึงปิดแคมป์คนงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ เนื่องจากในช่วงนั้นทางโรงพยาบาลเริ่มพบว่ามีเคสผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยต่ำสิบมาโดยตลอด กลายเป็นเพิ่มขึ้นมา 10-20 รายต่อวัน

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนั้น เชื่อว่าส่วนสำคัญมาจากพื้นที่แคมป์คนงาน กทม. ซึ่งคนงานได้เดินทางเข้ามายัง จ.นครราชสีมา เพื่อขอรับการรักษาตัว โดยมีทั้งผู้ที่มีผลตรวจพบว่าติดเชื้อแล้ว และผู้ที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เนื่องจากอาจไม่ได้รับความสะดวกในการตรวจที่ กทม.

นพ.เกรียงศักดิ์ ระบุว่า เมื่อภายหลังทางรัฐบาลได้มีมาตรการปิดเมืองดังกล่าวออกมา ทางโรงพยาบาลจึงมีความเป็นห่วง เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้วย่อมเกิดเหตุการณ์ “ผึ้งแตกรัง” ออกมา เหมือนครั้งที่เคยมีมาตรการลักษณะเดียวกันมาแล้วก่อนหน้านี้

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ทั้งในแง่การรักษาพยาบาลและการควบคุมโรค ทางโรงพยาบาลจึงตัดสินใจเปิดรับผู้ป่วยจากพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ให้เข้ารับการตรวจและรักษาโควิด-19 ได้

“หลังจากที่มีมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ออกมา เราน่าจะเป็นที่แรกๆ ที่ประกาศวันนั้นเลย ว่าคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยงและสงสัยว่าอาจติดเชื้อสามารถตรวจได้ฟรี เพราะถ้าเจอแล้วจะได้นำตัวไปรักษาทันที เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย โดยที่เราแอบหวังว่าเมื่อประกาศแล้ว จังหวัดอื่นๆ ก็จะประกาศตาม” ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา ระบุ

เริ่มต้นที่ผู้ป่วยสีเขียว มีภูมิลำเนาโคราช

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีการประกาศไปแล้ว ทางโรงพยาบาลเองเกรงว่าอาจจะรับปริมาณผู้ป่วยไม่ไหว จึงวางข้อกำหนดในเบื้องต้นให้เฉพาะกับผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาอยู่ภายใน จ.นครราชสีมา ก่อน ขณะเดียวกันยังขอให้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในระดับสีเขียว คือตรวจพบเชื้อแล้วแต่ยังไม่ได้รับการรักษา และอยู่ระหว่างรอเตียง เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายในระหว่างการเคลื่อนย้ายมายังโรงพยาบาล

พร้อมกันนี้ ในเงื่อนไขยังขอให้เป็นผู้ป่วยที่สามารถเดินทางมาด้วยตนเองได้ โดยการใช้รถส่วนตัว ซึ่งหากเป็นคนในครอบครัวติดเชื้อด้วยกันก็อาจมาพร้อมกันได้ หรือหากจะให้ผู้อื่นมาส่งก็อาจต้องเป็นรถกระบะโดยให้ผู้ป่วยนั่งอยู่หลังกระบะ เป็นต้น พร้อมกำชับในเรื่องของการเดินทาง ที่ขอให้ใส่แมสก์ตลอดเวลา ไม่ควรแวะพักระหว่างทางหลายที่ และเลือกแวะเฉพาะที่ที่คนไม่เยอะ เป็นต้น

สำหรับการประกาศเปิดรับนี้ กลายเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นในระดับจังหวัด เพื่อจัดวางรูปแบบในการรับผู้ป่วย โดยมีศูนย์ประสานงานรับส่งต่อผ่านโทรศัพท์ของ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อประเมินอาการผู้ป่วย หลังจากนั้นจึงจะส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอำเภอต่างๆ ตามภูมิลำเนาของผู้ป่วยรายนั้น เพื่อให้ได้เข้ารับการรักษาใกล้บ้าน

ในส่วนของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จะรับบทบาทในการดูแลผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขต อ.เมือง ร่วมกับโรงพยาบาลอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในขณะเดียวกันจะยังคงรับหน้าที่ในการเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการสีส้มและสีแดงจากทั้งจังหวัด ที่อาจถูกส่งตัวมา ดังนั้นในระหว่างนี้ทางโรงพยาบาลจึงต้องเตรียมการให้พร้อมรองรับตลอดเวลา

ถ้าเตียงไม่ล้น ให้ผู้ป่วยสีเขียวอยู่ รพ.

“ตราบใดที่เตียงยังไม่ล้น เราจะให้คนไข้สีเขียวได้อยู่ในโรงพยาบาลมากที่สุดก่อน เพื่ออยู่ดูอาการอย่างน้อย 7 วัน ให้แน่ใจว่าเชื้อไวรัสจะไม่ลงปอด แต่ถ้าเตียงล้นจริงก็ได้เตรียมความพร้อมสถานที่เพื่อเปิด โรงพยาบาลสนาม รองรับไว้แล้ว ซึ่งต่อไปเคสสีส้มสีแดง ก็จะค่อยๆ มาแทนที่เตียงที่มี และดันเคสสีเขียวไปสู่ โรงพยาบาลสนาม แทน” นพ.เกรียงศักดิ์ อธิบาย

เขาระบุว่า ในระหว่างนี้ทาง โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ก็จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนเตียง ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุปกรณ์ เติมเครื่องมือ เพื่อยกระดับเตียงเดิมให้สามารถรองรับผู้ป่วยวิกฤตได้มากขึ้น เพื่อให้พร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นต่อไป เพราะท้ายที่สุดแม้จะไม่ใช่ผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาอยู่ภายในจังหวัด แต่หากพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รับมือไม่ไหว ก็ต้องพร้อมที่จะช่วยเหลือรับผู้ป่วยมาดูแลในทุกกรณี

“ตอนนี้เองเราก็กำลังคิดเพิ่ม เพราะเห็นใจหลายคนที่ติดต่อเข้ามาแล้วไม่มีรถส่วนตัว ถามว่าทำอย่างไร จึงได้มีการพูดคุยกับทางปลัดจังหวัดไว้แล้วว่า ถ้าจำเป็นอาจต้องจัดรถเพื่อไปรับมา โดยเป็นในลักษณะมัดรวม เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียว ติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรืออาการไม่หนัก ซึ่งสามารถนั่งรถมารวมกันหลายคนได้ จะทำให้การขนส่งคนไข้สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และลดการแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วขึ้น” นพ.เกรียงศักดิ์ ระบุ

อดีตประธานแพทย์ชนบทรายนี้ ทิ้งท้ายว่า โรงพยาบาลรับภารกิจหนักหลายด้าน ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เร็วที่สุด ทั้งการรักษาพยาบาลตามปกติที่ยังต้องดำเนินการอยู่ ทั้งการดูแลสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามาเช่นนี้ ซึ่งล้วนใช้บุคลากรเดิมของโรงพยาบาล ที่ขณะนี้ต่างเหนื่อยล้ากันทั้งหมด อย่างไรก็ตามทางโรงพยาบาลยังคงจะต้องพยายามเพิ่มศักยภาพอุปกรณ์และเครื่องมือ ให้เตรียมพร้อมรองรับให้ได้มากที่สุด แม้ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ จะหามาได้เพียงพอหรือไม่