ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ คัดเลือกข้อเสนอพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพ ครอบคลุมเทคโนโลยีทางการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้เป็นประธานจัดประชุมเวทีระดมสมองเพื่อจัดลำดับความสำคัญและสรุปข้อเสนอหัวข้อปัญหา/เทคโนโลยีสุขภาพ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2561 ที่ผ่านมา โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังข้อเสนอจากกลุ่มตัวแทนสมาคม/ราชวิทยาลัย เพื่อนำไปพัฒนาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคต

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯได้จัดให้มีการเสนอหัวข้อ/ประเด็นสิทธิประโยชน์ จากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย 8 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์, กลุ่มนักวิชาการด้านสาธารณสุข, ภาคประชาสังคม, กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย, ภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์, ประชาชนทั่วไป และคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละกลุ่มจะถูกคัดเลือกประเด็นข้อเสนอกลุ่มละ 3 ประเด็น รวมทั้งหมด 24 ประเด็น แล้วนำไปประเมินความจำเป็นและผลกระทบเบื้องต้น หากหัวข้อใดที่ผ่านการคัดเลือก จะถูกนำไปพัฒนาเป็นโครงร่างงานวิจัยเพื่อศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบและความเป็นไปได้ในการจัดบริการ ก่อนจะมีการตัดสินใจว่าจะประกาศเป็นชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ หรือปรับปรุงการบริหารเพิ่มการเข้าถึงบริการหรือไม่อย่างไร

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหัวข้อเข้าสู่การประเมินมีทั้งหมด 6 ข้อ คือ 1.จำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากโรคหรือปัญหาสุขภาพ 2.ความรุนแรงของโรคหรือปัญหาสุขภาพ 3.ประสิทธิผลของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ 4.ความแตกต่างในทางปฏิบัติ 5.ผลกระทบทางเศรษฐกิจของครัวเรือนและ 6.ความเป็นธรรมและประเด็นทางสังคมและจริยธรรม

ขณะที่เกณฑ์การคัดออกจะมี 4 ข้อคือ 1.เป็นข้อเสนอเรื่องยา วัคซีน หรืออาหารเสริม เพราะมีช่องทางอื่นให้นำเสนออยู่แล้ว คือ คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ 2.เป็นข้อเสนอที่ขาดหลักฐานที่แสดงว่ามีประสิทธิภาพ (efficacy) และความแม่นยำ (accuracy) 3.เป็นหัวข้อที่เคยมีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มาแล้วและยังไม่มีข้อมูลที่ควรพิจารณาใหม่ และ 4.โรคหรือปัญหาสุขภาพเร่งด่วน เนื่องจากมีช่องทางกำหนดชุดสิทธิประโยชน์เร่งด่วนไว้อยู่แล้ว ซึ่งการประชุมในวันนี้ ผู้แทนสมาคมทางการแพทย์และราชวิทยาลัยต่างๆ ได้เสนอหัวข้อทั้งหมด 18 หัวข้อ

นพ.ภูษิต ประคองสาย รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านส่งเสริมสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ดำเนินการประชุม กล่าวว่า การประชุมในภาพรวมค่อนข้างน่าพอใจ เพราะในปีก่อนๆ กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ค่อยได้เสนอหัวข้อเข้ามามากนัก แต่ปีนี้มีความกระตือรือร้นในการเสนอเข้ามามาก และแต่ละเรื่องก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก

อย่างไรก็ดี เนื่องจากตามกระบวนการแล้ว สปสช.กำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มเสนอหัวข้อได้กลุ่มละ 3 หัวข้อ ดังนั้น หัวข้อที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมในเบื้องต้นนี้ คณะทำงานจะได้นำไปจัดลำดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการประเมินความจำเป็นและผลกระทบเบื้องต้นจากหัวข้อที่ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 8 กลุ่มเสนอเข้ามา 24 หัวข้อ แล้วจะคัดให้เหลือประมาณ 10-11 หัวข้อที่จะนำไปวิจัยศึกษาความคุ้มค่าหากจะพัฒนาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ต่อไป ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีเรื่องใดที่สามารถพัฒนาไปเป็นชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ๆได้ เพราะต้องศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ก่อนว่าคุ้มค่าที่จะนำเงินของประชาชนมาจ่ายในเรื่องนั้นๆหรือไม่