ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยยังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลหลายแห่งประสบวิกฤตเตียงไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย ทำให้กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องออกแนวทาง “มาตรการรักษาตัวที่บ้าน” (Home isolation) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวออกมา

แนวทางดังกล่าว เป็นแนวทางที่ใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระเตียงของโรงพยาบาลได้จริง

ล่าสุด โรงพยาบาลราชวิถีได้นำร่องการรักษาตัวที่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2564 จวบจนปัจจุบันมีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลแล้ว 26 ราย ในจำนวนนี้รักษาจนหายแล้ว 12 ราย

“The Coverage” มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.กนกพจน์ จันทร์ภิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านบริการทางการแพทย์ และนายแพทย์ชำนาญการพิเศษด้านเวชกรรม โรงพยาบาลราชวิถี ถึงมาตรการ-แนวทาง รวมไปถึงระบบติดตามผู้ป่วยผ่าน “Telemedicine” อีกด้วย

‘Home Isolation’ ลดปัญหาเตียงไม่พอ

นพ.กนกพจน์ เล่าว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในตอนนี้จะเห็นได้ว่ามียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นราว 5,000 คนต่อวัน ตรงนี้เองที่ทำให้เตียงที่ต้องใช้รองรับในการรักษาผู้ป่วยไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีการทำ Home isolation ซึ่งจะเริ่มในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อนเป็นลำดับแรก สอดคล้องกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในแต่ละวันที่กระจุกตัวอยู่ใน กทม.

ขณะนี้ โรงพยาบาลที่มีการทำ Home isolation ก็จะเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลใน กทม. และโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ โดยจะมีการแบ่งพื้นที่เพื่อให้ง่ายต่อการส่งยา-อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการส่งอาหารให้ผู้ป่วยในอนาคต

“ผู้ป่วยจะใช้ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลสั้นลง จากเดิมที่ต้องอยู่ 14 วัน ก็จะเหลือเพียงแค่ 10 วัน ส่วนอีก 4 วันที่เหลือก็กลับไปรักษาตัวที่บ้านบนพื้นฐานความเข้าใจ และความยินยอมจากผู้ป่วยตามข้อตกลงของโรงพยาบาล” นพ.กนกพจน์ กล่าว

นพ.กนกพจน์ กล่าวต่อไปว่า โรงพยาบาลราชวิถีเริ่มนำร่องการทำ Home isolation มาตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2564 มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการนี้ทั้งหมด 26 ราย และรักษาจนหายตามหลักวิชาทางการแพทย์ไปแล้ว 12 ราย และมีผู้ป่วยเพียง 1 รายเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยเกิดเป็นลมในระหว่างการรักษาตัว

ใช้ Telemedicine ติดตามอาการผู้ป่วย

นพ.กนกพจน์ อธิบายต่อไปว่า หลังจากที่แนวคิดเรื่องนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไป ทางกรมการแพทย์ ได้มีการนำไปพัฒนาปรับปรุงจนได้ข้อสรุปล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ถึงลักษณะผู้ป่วยที่เหมาะสมในการทำการรักษาแบบ Home isolation

ลักษณะของผู้ป่วยที่เหมาะกับการเข้ารักษาแบบ Home isolation จะมีอยู่ 2 เงื่อนไข ก็คือผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มสีเขียว และอาจจะอยู่ในระหว่างการรอเตียงตามสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ หรือภาคเอกชน แต่ก็จะต้องเป็นผู้ป่วยที่มี “อาการน้อย” หรือแทบจะไม่มีอาการ สุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเงื่อนไขนั่นก็คือ กรณีที่ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล จะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์แล้วอย่างน้อย 10 วัน จนผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเพียงพอที่จะกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ โดยทั้ง 2 เงื่อนไขจะต้องเป็นกรณีที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าสามารถกักตัวที่บ้านได้เท่านั้น

สำหรับโรงพยาบาลราชวิถีจะใช้ระบบ “Telemedicine” ซึ่งเดิมทีจะใช้ติดตามผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เพื่อลดปัญหาในการเดินทาง-ความแออัดในโรงพยาบาล มาใช้สำหรับการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวที่บ้านนั้นก็ใช้ระบบเดียวกัน โดยทางทีมบุคลากรทางการแพทย์จะโทรหาผู้ป่วย 2 เวลา นั่นก็คือเช้า-บ่ายหรือเย็นทุกวัน เพื่อเป็นการติดตามอาการ

พร้อมกันนี้ ทางโรงพยาบาลก็จะทำการส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ผู้ป่วย เช่น เครื่องวัดความดัน ปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดปลายนิ้ว เพื่อใช้ในการสังเกตตัวเอง และใช้ในการพูดคุยกับแพทย์ รวมไปถึงทางโรงพยาบาลจะมีการจ่ายยาตามอาการ และส่งยาไปให้ผู้ป่วยถึงบ้านเช่นกัน

“ด้วยความที่เรามีการติดตามผู้ป่วยทุกวัน ถ้าทีมแพทย์หรือบุคลากรเริ่มเห็นว่าผู้ป่วยอาการไม่ดี เราก็จะมีการพิจารณาส่งยาไปให้ รวมไปถึงยาต้านไวรัสอย่างฟาวิพิราเวียร์ไปให้ผู้ป่วยถึงบ้าน แต่ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่มีผู้ป่วยรายใดที่จำเป็นต้องส่งยาต้านไวรัสชนิดนี้ให้เลยสักราย” นพ.กนกพจน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการนำเทคโนโลยีอย่าง “Telemedicine” เข้ามาอำนวยความสะดวก แต่ก็ยังพบข้อจำกัดบางเรื่อง เช่น ปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือข้อจำกัดของอายุ เป็นต้น ซึ่งก็ยังคงเป็นข้อจำกัดที่ยังต้องมีการปรับปรุง

Home Isolation ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

นพ.กนกพจน์ ให้ความรู้เกี่ยวกับแนวการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านว่า ผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation ที่บ้าน ต้องพยายามพักผ่อน-ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ถูกคุณลักษณะ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม (เนื่องจากผู้ป่วยมีหลายช่วงวัย) และต้องดูแลตนเองไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนอื่น

กรณีที่อยู่ร่วมกันกับผู้อื่น สิ่งที่สำคัญก็คือต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่าง และล้างมือ โดยปกติแล้วโรงพยาบาลราชวิถีจะมีทีมบุคลากรทางการแพทย์คอยให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยทุกรายอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการทางการแพทย์ที่ได้มีการเผยแพร่ออกไป

“สำคัญที่สุดคือไม่ควรออกนอกบ้าน เพราะการทำ Home isolation ก็คือการกักตัว ไม่ควรออกไปแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของราชวิถีนั้น ยังไม่พบข้อมูลว่ามีการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น” นพ.กนกพจน์ ระบุ

นพ.กนกพจน์ บอกว่า ในวัน 2 มิ.ย. 2564 นี้ ทางโรงพยาบาลราชวิถีจะเริ่มนำร่องส่งอาหาร-ผลไม้-น้ำดื่มให้ผู้ป่วยครบทั้ง 3 มื้อ เพื่อเป็นการป้องกัน-ตัดวงจรไม่ให้ผู้ป่วยออกไปแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยทางโรงพยาบาลสามารถเบิกค่าอาหาร-ค่าบริการทางการแพทย์ จำนวน 1,000 บาท รวมไปถึงค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างน้อย 2 ชิ้น เช่น ปรอทวัดไข้-เครื่องวัดออกซิเจน เป็นต้น ในจำนวนไม่เกิน 1,100 บาท

“ส่วนตัวคิดว่าในอนาคตน่าจะเริ่มมีการใช้ “Community isolation” หรือการแยกดูแลผู้ป่วยในชุมชน หรือแรงงานต่างด้าว มีการบริหารจัดการจัดการในพื้นที่ และให้คนในชุมชนที่ผ่านการอบรม หรือรับรองจาก สธ. เพื่อที่จะสามารถเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจะกลายเป็นที่ใหญ่มากขึ้น

“Community isolation อาจจะเป็นขั้นต่อไปที่มีแนวโน้มว่าจะทำ แต่ก็ต้องมีการติดตามข้อมูลจากกรมการแพทย์ หรือกระทรวงสาธารณสุขอีกที” นพ.กนกพจน์ ระบุ