ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขยายสิทธิประโยชน์ครั้งใหญ่ให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ใช้ “สิทธิบัตรทอง” ด้วยการสนับสนุนเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) ซึ่งจะช่วยลดภาระผู้ป่วย ไม่ต้องอดนอน ไม่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนน้ำยาล้างไต-ล้างไตเอง ในช่วงเวลากลางคืน

ในปี 2565 ที่จะถึงนี้ สปสช.ได้วางเป้าหมายที่จะนำร่องให้บริการเครื่อง APD แก่ผู้ป่วยจำนวน 500 ราย ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสมทั้งปัจจัยทางการแพทย์และปัจจัยทางสังคม ภายใต้ความคาดหวังสูงสุด คือจะช่วยให้ผู้ป่วยไตวายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเครื่อง APD จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกเป็นอย่างมาก แต่ก็ใช่ว่าจะเหมาะสมกับผู้ป่วยทุกราย ซึ่งงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ บัตรทองนำร่อง 500 ราย เพิ่มคุณภาพชีวิตอย่างไร ใครควรได้รับสิทธิ” ที่จัดขึ้นโดย สปสช. เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 มีคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญโรคไตที่ช่วยฉายให้เห็นภาพว่า APD เหมาะสมกับผู้ป่วยกลุ่มใดบ้าง

รศ.พญ.สิริภา ช้างศิริกุลชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไต หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ อธิบายว่า ในทางการแพทย์ การใช้เครื่อง APD จะเหมาะสมกับผู้ป่วยบางกลุ่มเท่านั้น โดยเหมาะกับผู้ป่วยที่ทำการล้างไตผ่านทางช่องท้องมาแล้วระยะหนึ่ง และเกิดผนังช่องท้องเสื่อม รวมไปถึงผู้ป่วยที่อาจจะมีแรงดันในช่องท้องมาก หรือมีปัญหาไส้เลื่อน เป็นต้น

เครื่อง APD ยังเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็กนักเรียนที่ไม่สะดวกในการล้างไตในช่วงกลางวัน หรือผู้ป่วยที่ต้องอาศัยผู้ดูแล ซึ่งผู้ดูแลอาจมีภารกิจอื่นๆ ก็จำเป็นต้องล้างไตด้วยเครื่องเช่นกัน

สำหรับกลุ่มคนที่ไม่เหมาะสมในการใช้เครื่อง APD คือผู้ป่วยที่ตำแหน่งสายล้างไตไม่ดี เนื่องจากเครื่องถูกกำหนดไว้แล้ว ถ้าเกิดผู้ป่วยวางตำแหน่งสายที่ไม่ดี น้ำยาไม่ไหล และผู้ดูแลหรือผู้ป่วยดูไม่ออกว่ากำลังมีปัญหา ก็จะทำให้น้ำยาตกค้างในช่องท้องและถูกดูดซึมกลับไปในช่องท้องได้ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง การใส่ยาปฏิชีวนะด้วยเครื่องก็มีข้อจำกัด

นอกจากปัจจัยทางการแพทย์แล้ว ยังจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยทางสังคมด้วย เช่น สภาพที่อยู่อาศัยเหมาะสมหรือไม่ มีปลั๊กไฟที่ต่อกับผนังหรือไม่ เกิดปัญหาไฟตกบ่อยหรือไม่ ที่สำคัญคือผู้ใช้ต้องดูแลรักษาเครื่องเป็นด้วย

“ผู้ป่วยรายใดที่ต้องการใช้เครื่อง APD จำเป็นต้องพูดคุยกับแพทย์ก่อนว่าตนเองนั้นเข้าเกณฑ์หรือไม่ ในขณะเดียวกัน สปสช. ก็มีระบบที่ให้ลงเอกสารเพื่อให้ทางคณะกรรมการพิจารณา ซึ่งถ้าเข้าเกณฑ์ก็จะได้เครื่อง APD ในการรักษา” รศ.พญ.สิริภา ระบุ

ทางด้าน น.ส.สมควร ศรีมูล บุตรสาวผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เล่าว่า ได้ดูแลมารดาและช่วยทำการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยตัวเอง (CAPD) ให้มารดามาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว โดยแต่ละวันควรจะต้องล้างให้ได้ 4 ครั้ง แต่ด้วยมีข้อจำกัดเรื่องงานประจำ ทำให้สามารถล้างจริงได้เพียงวันละ 3 ครั้ง หรือถ้าช่วงใดที่มีงานหนัก ก็จะล้างไตให้มารดาได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น เมื่อทำไม่ได้ตามแผนการรักษาก็เกิดปัญหาตามมาเรื่อยๆ

“เมื่อช่วงปลายปี 2563 จนถึงต้นปีที่ผ่านมา คุณแม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมปอดและของเสียบ่อยครั้ง คุณแม่คลื่นไส้ อาเจียน และต้องเข้าแอดมิทเกือบทุกเดือน กระทั่งเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แพทย์ที่รักษาคุณแม่แจ้งว่าคุณแม่จะได้รับเครื่องล้างไตอัตโนมัติมาใช้ เพราะมีภาวะน้ำท่วมปอดบ่อย และมีโรคประจำตัวมาก” น.ส.สมควร กล่าว

น.ส.สมควร เล่าอีกว่า หลังจากที่ได้รับเครื่อง APD แล้ว มารดามีอาการดีขึ้นทั้งในแง่ของการรักษา และคุณภาพชีวิตอย่างเห็นได้ชัด โดยน้ำยาล้างไต สปสช.ก็จัดส่งมาที่บ้านทุกเดือน ทำให้ทุกวันนี้มารดามีความสุขและใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น

นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวย สปสช. เขต 4 สระบุรี ให้ข้อมูลว่า ในปี 2564 มีนำร่องผู้ป่วยล้างไตด้วยเครื่อง APD จำนวน 100 ราย โดยในเขต 4 มีผู้ป่วยที่ได้รับเครื่องไปแล้วจำนวน18 ราย ซึ่งกระจายไปยังโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป  

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ผู้บริหาร สปสช. ต้องการขยายการนำร่องด้วยเครื่อง APD จำนวน 500 ราย ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์พิจารณาทั้งทางการแพทย์ และทางสังคม โดย สปสช. ได้ตั้งงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยโรคไตไว้เป็นกองทุนโรคไตโดยเฉพาะ

“แนวโน้มผู้ป่วยโรคไตในอนาคตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักมาจากโรคเบาหวาน ซึ่งคนไทยเป็นเบาหวานมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ฉะนั้นโจทย์ไม่ได้อยู่ที่จะทำอย่างไรไม่ให้ป่วยเป็นไตวายเรื้อรัง แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดเบาหวาน รวมถึงโรคความดันโลหิตสูงและการใช้ยาบางประเภทที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังได้” นพ.ชลอ กล่าว

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. บอกว่า นโยบายนี้เป็นหนึ่งในการยกระดับบัตรทอง ซึ่งไม่ได้เกิดกับคนมีฐานะ แต่ต้องจัดระบบเพื่อให้คนมีโอกาสเข้าถึงเครื่องล้างไตอัตโนมัติ APD โดยเบื้องต้นกำหนดเป้าหมายนำร่องในปี 2565 ไว้ที่ 500 ราย โดย สปสช.จะให้เครื่อง APD แก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าเครื่อง ส่วนน้ำยาล้างไตจะส่งผ่านทางไปรษณีย์ไปให้กับผู้ป่วยที่บ้านทุกเดือน รวมไปถึงมีทีมพยาบาลคอยเข้าอบรมเรื่องของการใช้งานเครื่อง APD ด้วย

“ยืนยันว่า สปสช. จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุดให้กับทุกคน ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีฐานะดีก็สามารถได้รับบริการที่ดี ในส่วนนี้น่าจะเป็นคำตอบว่า แม้จะเป็นโรคร้ายแรงหรือโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ก็สามารถปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยนั้นมีความสุขกับการดำรงชีวิตต่อไป” นพ.จเด็จ กล่าว