ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สสจ.สงขลา เผยสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนักใกล้เคียง กทม. ศักยภาพรองรับเกินกว่า 90% เชื่อหากไม่ดีขึ้นอาจไม่มีเตียงรองรับ เร่งหาแนวทางเสริม รพ.สนาม-ขอโควต้าวัคซีนเพิ่ม ยังไม่พิจารณาปิดเมือง


นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เปิดเผยกับ "The Coverage" ว่า สถานการณ์โควิด-19 ของ จ.สงขลา นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 มียอดผู้ติดเชื้อรวมแล้ว 3,920 คน เสียชีวิตสะสม 16 ราย เป็นผู้ติดเชื้อเฉพาะวันที่ 23 มิ.ย. 2564 จำนวน 185 คน โดยมีกลุ่มคลัสเตอร์หลักที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้างมาจาก โรงงาน ชุมชน และเรือนจำ

ทั้งนี้ พบว่า จ.สงขลา เริ่มมีการระบาดหนักในช่วงกลางเดือน พ.ค. เป็นต้นมา และสถานการณ์เริ่มย่ำแย่มากขึ้น ทั้งจากการนำเชื้อเข้ามาจากจังหวัดอื่น รวมถึงการฝ่าฝืนคำสั่งราชการ ลักลอบรวมกลุ่มกัน ไม่ว่าจะเป็นการสังสรรค์ เล่นบ่อนการพนันผิดกฎหมาย เมื่อมีการแพร่เชื้อเกิดขึ้นแต่ละคนจึงนำเชื้อกลับไปสู่ครอบครัว และหากผู้สูงอายุติดเชื้อก็เกิดการเสียชีวิต

สำหรับกลุ่มโรงงาน พบคลัสเตอร์การระบาดทั้งหมดใน 9 โรงงาน รวม 810 คน โดยล่าสุดคือโรงงานของบริษัท สงขลาแคนนิ่ง ที่พบการติดเชื้อใหม่รวม 263 คน ในขณะที่กลุ่มชุมชน ส่วนใหญ๋พบการระบาดในชุมชนแออัด เช่น ชุมชนเก้าเส้ง รวมถึงกลุ่มนักเรียนศาสนาจากศูนย์มัรกัสยะลา ที่มีเข้ามาใน จ.สงขลา รวม 78 คน พบติดเชื้อแล้ว 52 คน ไม่พบเชื้อ 13 คน และกำลังรอผลอีก 13 คน

นพ.อุทิศศักดิ์ กล่าวว่า การดูแลผู้ติดเชื้อในชุมชนจะทำในลักษณะ CIC หรือ Community Isolation Center โดยจัดหาสถานที่กักตัวในชุมชน เป็นโมเดลให้ชุมชนได้ดูแลลูกหลานของตนเองร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ส่วนโรงพยาบาลสนามใน จ.สงขลา มีทั้งในเรือนจำ ศูนย์ประชุม และโรงพยาบาลต่างๆ รวม 9 แห่ง ซึ่งขณะนี้ศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยเกิน 90% แล้ว

"ศักยภาพในการรับคนไข้ขณะนี้ใกล้ถึงขีดจำกัดแล้ว หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ มีการพบกลุ่มก้อนผู้ติดเชื้อใหญ่ๆ อาจถึงขั้นที่ผู้ป่วยไม่มีเตียงรองรับได้ ขณะนี้เราจึงกำลังเร่งขยายไปในหลายพื้นที่ทั้งการให้ชุมชนตั้ง CIC หรือหากมีการระบาดในโรงงานหรือเรือนจำอีก ก็ให้ปรับพื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามไปเลย เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อให้ได้แล้วทางเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูแล" นพ.อุทิศศักดิ์ กล่าว

นพ.อุทิศศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนศักยภาพการดูแลผู้ป่วยหนัก ได้อาศัยความร่วมมือหลักๆ จากโรงพยาบาลสงขลา โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยประสานให้มีการขยายเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ยังแย่อาจจะต้องมีการประเมินอีกครั้ง เพราะน่าจะมีเตียงไม่เพียงพอ

ในส่วนของโรงพยาบาลสนามที่คาดว่าจะมีการขยายไปภายใน 1-2 วันนี้ ประกอบด้วย ศูนย์พักพิง อ.ระโนด ค่ายรัตนพล อ.คลองหอยโข่ง รวมถึงสวนประวัติศาสตร์ และศูนย์กีฬา อ.เมืองสงขลา

นพ.อุทิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า แม้การบริหารจัดการในระดับเขตสุขภาพที่ 12 จะมีนโยบายที่สามารถส่งต่อผู้ป่วยกันได้ แต่ขณะนี้หลายจังหวัดล้วนเผชิญความยากลำบากเช่นเดียวกัน การส่งต่อจึงเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดในขณะนี้คือการเพิ่มศักยภาพภายในจังหวัดก่อน แต่หากจำเป็นจริงๆ ก็ได้มีการวางแผนเอาไว้แล้วบ้าง คือส่งต่อไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดน้อยอยู่ เช่น พัทลุง ตรัง ซึ่งต้องมีการหารือกันอีกครั้ง

"เขตสุขภาพที่ 12 ขณะนี้มีการระบาดหนัก โดยสงขลานั้นหนักหน่วงใกล้เคียงกับ กทม. ดังนั้นสิ่งที่อยากเรียกร้องคือเราจำเป็นต้องมีมาตรการที่ดีให้ประชาชนมั่นใจและทำให้การรักษาได้ผล ซึ่งที่เราอยากได้มากที่สุดขณะนี้คือวัคซีนที่จะต้องลงมาสู่พื้นที่ที่มีการระบาด ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนทางเลือกหรือวัคซีนที่จัดสรรโดย ศบค. ก็แล้วแต่ ล้วนจำเป็นมากในขณะนี้" นพ.อุทิศศักดิ์ กล่าว

นพ.อุทิศศักดิ์ กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ จ.สงลา ได้รับมานั้น เพียงพอให้กับกลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม และบุคลากรด่านหน้าเท่านั้น โดยที่ผ่านมาทั้งจังหวัดได้มีการฉีดไปแล้ว 108,067 โดส เป็นเข็มแรก 80,715 โดส และเข็มสอง 27,352 โดส จากกลุ่มเป้าหมายประมาณ 1 ล้านคน แต่ขณะนี้ยังคงต้องการวัคซีนอีกมากเนื่องจากสถานการณ์ที่รุนแรง ซึ่งอาจต้องใช้โควต้าพิเศษแบบพื้นที่ กทม.

นพ.อุทิศศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนประเด็นของการปิดเมือง จากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ ได้ประเมินว่าการปิดเมืองจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เพราะขณะนี้การระบาดอยู่ในชุมชน ไม่ได้เป็นการระบาดจากการนำเข้ามาจากภายนอก ดังนั้นในกรณีของ จ.สงขลา ขณะนี้ที่มีลักษณะของเป็นกลุ่มก้อน ชุมชนต่างๆ ที่มีการระบาด จึงปิดไม่ให้มีการเข้าออกชั่วคราวเฉพาะบริเวณนั้น