ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงเสวนาชี้ชัด "น้ำเมา" ทำขาดสติ-การ์ดตก เสี่ยงติดโควิดเพิ่ม 2-3 เท่า ย้ำปมการระบาดในไทยจุดสำคัญมาจากผับ-บาร์ วงปาร์ตี้-กินดื่ม ด้านอดีตนักดื่มเผยซดเหล้าหนักทำตับพัง ซ้ำติดโควิด-ลำบากหนัก ต้องรักษาตัวนานกว่าปกติ


รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา เปิดเผยในเวทีเสวนาออนไลน์ “ถอดบทเรียนชีวิตคนติดเหล้า ในวันที่ติดโควิด-19” เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้ 2-3 เท่า ดังนั้นในช่วงที่โรคกำลังระบาดหนัก หากเป็นไปได้ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง ก็จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อลงได้อย่างมาก

ทั้งนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะการดื่มต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจำนวนมาก เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ที่น่ากลัวคือโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคตับ กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นต้น ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 จะพบว่าในจำนวนของผู้ป่วยที่อาการหนักและเสียชีวิต ส่วนใหญ่จะมีโรคร่วมเหล่านี้

"ยิ่งไปกว่านั้น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ขาดสติ ความสามารถในการป้องกันตัวเองลดลง อย่างที่เห็นในรายงานสถานการณ์ว่าเกิดการติดเชื้อจากปาร์ตี้ ดื่มเหล้าเบียร์แก้วเดียวกัน เป็นต้น ดังนั้นคนที่มีอาการติดสุรา ควรไปสถานพยาบาลปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาช่วยเลิกสุรา เพื่อให้เราสามารถมีสติในการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้" รศ.พญ.รัศมน กล่าว

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่มีโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ที่ยืนยันว่าการดื่ม ปาร์ตี้ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster)

"จนถึงขณะนี้แนวโน้มการระบาดของประเทศไทยก็ยังไม่ลดลง จำนวนผู้ติดเชื้อรายงานยังอยู่ในหลัก 2-3 พันรายต่อวัน ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนมีมาตรการควบคุมโรคส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น ทั้ง การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม งดปาร์ตี้ตั้งวง และถ้าลดละเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จะดีที่สุด" น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว

สำหรับปัญหาพฤติกรรมดื่มสุรา จะก่อให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพ เป็นอันดับหนึ่งในเพศชาย โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป มีปัญหาพฤติกรรมดื่มสุรา 2.7 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มที่ดื่มแบบอันตรายประมาณ 1.8 ล้านคน และกลุ่มที่ดื่มแบบติดสุราประมาณ 9 แสนคน จากจำนวนคนที่ดื่มประมาณ 15.9 ล้านคน โดยในสถานการณ์ปกติประเทศไทยจะมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มเฉลี่ยมากกว่า 17,000 คนต่อปี

ด้าน นายเอ (นามสมมติ) ชาวชุมชนวัดสวัสดิ์สารีสีมาราม อายุ 47 ปี กล่าวว่า ตนดื่มเหล้าหนักตั้งแต่วัยรุ่น จนเกิดอาการติดต้องดื่มทุกวัน กระทั่งเมื่อหลายปีก่อนถูกแพทย์ระบุว่าเป็นโรคตับแข็ง และต้องเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด แม้จะอยากดื่มแต่ก็มุ่งมั่นจนสามารถเลิกดื่มได้มาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามยังต้องหาหมอ และกินยารักษาโรคตับแข็งมาตลอด ซึ่งทำให้การใช้ชีวิตลำบากไม่สามารถทำงานหนักได้

นายเอ กล่าวว่า กระทั่งเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ตนและครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งในระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาลนั้นตนลืมนำยารักษาโรคตับแข็งไปด้วย เมื่อขาดยาทำให้เกิดภาวะเบลอ หลงลืม ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อุจจาระปัสสาวะราดไม่รู้ตัว ต้องส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิระ จึงต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่าคนอื่น รวมถึงแพทย์ต้องดูแลรักษาเป็นพิเศษ

"แม้รักษาโควิดหายจนไม่มีเชื้อแล้ว แต่ยังต้องอยู่โรงพยาบาลต่ออีกหลายวันเพื่อรักษาโรคเดิม คือตับแข็ง ซึ่งจากโรคที่เป็นอยู่ก็ยากลำบากมากแล้ว มาติดโควิดอีกยิ่งหนักหนาสาหัส โชคยังดีที่ผมและครอบครัวได้รับการดูแลช่วยเหลือจากผู้นำชุมชนและเพื่อนบ้าน จึงอยากเชิญชวนคนที่ยังดื่มอยู่ใช้โอกาสช่วงโควิดนี้เลิกเหล้า" นายเอ กล่าว