ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากเหตุการณ์ปฏิบัติการช่วยชีวิต “คริสเตียน อิริกเซน” นักฟุตบอลทีมชาติเดนมาร์ก ที่มีอาการช็อกและหมดสติในสนาม ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2020 แสดงให้เห็นว่า การมีแพทย์ประจำสนามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมีความสำคัญอย่างมากกับเหตุการณ์ในครั้งนี้

ที่ผ่านมาสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA) ได้ให้ความสำคัญกับอาการบาดเจ็บและป่วยฉุกเฉินในขณะที่ทำการแข่งขันฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นการหยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น จึงได้ออกข้อกำหนดว่าการแข่งขันฟุตบอลต่างๆ จะต้องมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) รถพยาบาลและทีมแพทย์ประจำสนาม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดเป็นคำถามตัวโตถึงสวัสดิการและสวัสดิภาพของประชาชนที่ใช้ชีวิตระหว่างวัน

นอกจากสนามฟุตบอลหรือสนามกีฬาแล้ว สถานที่สาธารณะอื่นๆ ที่มีผู้คนจำนวนมาก เช่น สถานีรถไฟ สนามบิน โรงเรียน และ อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ควรมีการติดตั้งเครื่องนี้ด้วยหรือไม่

นี่เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในระดับนโยบาย

เพราะนอกจากอุปกรณ์กู้ชีพฉุกเฉินแล้ว ยังจำเป็นต้องมีความพร้อมด้านบุคลากร และการให้องค์ความรู้แก่ประชาชน ให้สามารถทำการฟื้นคืนชีพเบื้องต้น (CPR) ประกอบกับการใช้เครื่อง AED ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับเครื่อง AED จะสามารถช่วยชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ ให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ ฟื้นได้ถึง 70% หากได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและถูกต้องตามหลักวิธี คือ ทำ CPR ประกอบกับการใช้เครื่อง AED ภายในระยะเวลา 4 นาที ซึ่งจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

แต่หากไม่มีเครื่อง AED การฟื้นกลับมาของผู้ป่วยจะมีเพียง 50% เท่านั้น โดยผู้ป่วยโรคหัวใจนั้น มี 2 ประเภท คือ แบบที่จำเป็นต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า กับแบบที่ไม่ต้องการเครื่องช่วย

ในส่วนของการทำ CPR นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการปฐมพยาบาลให้หัวใจทำงานต่อไป เปรียบเสมือนการส่งเลือดให้ไปเลี้ยงสมองและอวัยวะอื่นๆ ไม่ให้ตาย หรือได้รับความเสียหาย ไม่ใช่การรักษาภาวะผิดปกติของหัวใจที่ต้นเหตุ แต่ AED เป็นการรักษาโดยตรงช่วยให้หัวใจดีขึ้นและกลับมาทำงานเป็นระบบ

"ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสนามกีฬาและฟิตเนส เป็นจุดที่จำเป็นต่อการติดตั้งเครื่อง AED เพราะผู้ใช้บริการมีการเคลื่อนไหวร่างกายและมีกลุ่มคนหลายวัยอยู่รวมกันในพื้นที่ ซึ่งไม่สามารถรู้สาเหตุที่เป็นปัญหาสุขภาพได้ทันทีในเบื้องต้น เครื่อง AED จึงมีบทบาทและเป็นสิ่งจำเป็นต่อการช่วยชีวิต" นายสุพิชัย วิจิตรภาพ ผู้อำนวยการฝ่ายขายเครื่องมือแพทย์ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ (N Health) ระบุ

นายสุพิชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่องติดตั้ง AED อยู่ตามสถานที่ต่างๆ ประมาณ 3 หมื่นเครื่อง และมีการช่วยเหลือให้รอดชีวิตจากเครื่อง AED เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยทุกเพศทุกวัยทุกที่ทุกเวลา

“ด้วยอัตราของประชาชนที่เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มีจำนวนมากพอๆกับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จึงคาดว่าในอนาคตจะมีกฎหมายประกาศบังคับให้ติดตั้งเครื่อง AED ภายในสถานที่ต่างๆ อย่างชัดเจน” นายสุพิชัย เสนอ