ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ร่วมรณรงค์วันดาวน์ซินโดรมโลก หนุนดูแล “เด็กดาวน์” สิทธิประโยชน์บัตรทองครอบคลุมการรักษา พร้อมส่งเสริมพัฒนาการให้ดีขึ้นเท่าที่เด็กทำได้ พร้อมจับมือกรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ รุกควบคุมกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ทุกสิทธิอย่างเป็นระบบ หลังนำร่อง 5 จังหวัด มีหญิงตั้งครรภ์รับการคัดกรองแล้วกว่า 38,000 ราย เตรียมขยายผลทั่วประเทศ

นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “วันดาวน์ซินโดรมโลก” (World Down's syndrome Day) ตรงกับทุกวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 ณ ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจถึงศักยภาพและความสำเร็จของบุคคลที่มีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมทั่วโลก กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมเกิดจากยีนหรือสารพันธุกรรมบนโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินเป็น 3 แท่ง เป็นที่มาของวันที่ 21 เดือน 3 วันดาวน์ซินโดรมโลก โดยเด็กที่มีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมจะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันในลักษณะเฉพาะตัว และมีปัญหาสุขภาพรวมถึงพัฒนาการที่ล่าช้า จำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพ การสนับสนุนพัฒนาการต่อเนื่อง ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากและกลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ

ด้วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีหลักการสำคัญ คือดูแลคนไทยผู้มีสิทธิให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังตามเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (SDG3) รวมถึงผู้ที่มีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ส่งผลให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้าถึงการรักษา บริการสาธารณสุข การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ตามสิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมกันนี้ยังได้สนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) เพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้ดีขึ้นเท่าที่เด็กสามารถจะทำได้

นพ.ชูชัย กล่าวว่า ขณะเดียวกัน สปสช.ยังสนับสนุนด้านการป้องกันและควบคุมกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม เพื่อลดอัตราการเกิดของเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรม โดยดำเนิน “โครงการป้องกันและควบคุมกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์” ร่วมกับ กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ ในแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการการป้องกันและควบคุมกลุ่มอาการดาวน์ โดยในปี 2559 ได้เริ่มนำร่องพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน นครสวรรค์ ขอนแก่น สงขลา และยะลา เป็นการเตรียมความพร้อมด้านบริหารจัดการก่อนขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2559

ผลจากโครงการนี้ได้เกิดเครือข่ายบริการคัดกรองดาวน์ซินโดรม โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นศูนย์กลางในการตรวจทางห้องปฏิบัติการและควบคุมคุณภาพการแปลผลการตรวจคัดกรอง สนับสนุนวิชาการ ให้คำปรึกษาแก่ทีมแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ ในหน่วยบริการเครือข่าย

“การตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์ทุกสิทธิ ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จะเริ่มคัดกรองอายุครรภ์ 14-18 สัปดาห์ มีการตรวจเลือดก่อน แล้วจึงเป็นการตรวจโครโมโซมและเจาะน้ำคร่ำยืนยัน ไม่ว่าหญิงตั้งครรภ์มีความจำเป็นต้องได้รับบริการในขั้นตอนใดจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องโดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรม พร้อมกับการประเมินและติดตามเพื่อให้การดูแลเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่ปี 2559-2560 มีหญิงตั้งครรภ์ที่รับการคัดกรองกลุ่มดาวน์ซินโดรมแล้วกว่า 38,000 ราย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว