ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Nature Portfolio วารสารเผยแพร่งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เผยแพร่บทบรรณาธิการเมื่อเร็วๆนี้ เรียกร้องให้นานาประเทศเดินหน้าสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชน โดยอย่าให้โรคระบาดโควิด-19 มาเป็นอุปสรรคหยุดยั้งความพยายามนี้

บทบรรณาธิการดังกล่าวระบุว่า ในขณะที่ทั่วโลกกำลังมุ่งความสนใจไปยังการเร่งฉีดวัคซีนโควิด ก็ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสุขภาพในภาพรวม เพื่อให้ประชาชนเข้าบริการสาธารณสุขที่จำเป็น

โดยมีการอ้างอิงความเห็นของ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการ​ใหญ่องค์การอนามัยโลก ซึ่งแสดงความเชื่อมั่นต่อการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่จะทำให้นานาประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน ทั้งยังเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต

เพราะหากคนมีสุขภาพดี ก็ย่อมสร้างผลิตผลทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ดังนั้น รัฐบาล นักวิทยาศาสตร์ และสาธารณะต้องสนับสนุนให้นานาประเทศบรรลุการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยไม่ชะลอแผนการทำโครงการประกันสุขภาพแม้เกิดโรคระบาดโควิด-19

บทบรรณาธิการยังระบุอีกว่า ในห้วงเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา โรคโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นความเปราะบางของผู้คนชุมชน และประเทศที่มีระบบสุขภาพมีช่องโหว่

ยกตัวอย่างเช่น การเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดจำนวนมากในอินเดีย เกิดขึ้นเพราะโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา พบว่ากลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มเสียชีวิตจากโควิด มากกว่ากลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงกว่า เพราะไม่มีเงินซื้อประกันสุขภาพ จึงไม่เข้ารับบริการในทันทีที่สงสัยว่าตนติดเชื้อ

การศึกษาชุมชนยากจนในเมืองซานติเอโก ประเทศชิลี พบว่าผู้เสียชีวิตในชุมชนมากกว่า 90% เสียชีวิตนอกสถานพยาบาล สะท้อนว่ามีโครงสร้างด้านสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ การศึกษาอื่นยังพบว่าประเทศที่ไม่มีระบบสุขภาพดีและทั่วถึง พบประชากรที่มีโรคแทรกซ้อนจากโควิดมากกว่าประเทศอื่น

ที่ผ่านมา แม้จะมีการเรียกร้องให้นานาประเทศสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกันระหว่างประชากร แต่ก็มักพบกับอุปสรรค โดยเฉพาะเมื่อเจอวิกฤติเฉพาะหน้าที่ทำให้รัฐบาลชะลอโครงการด้านสุขภาพ

หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในทศวรรษที่ 1930 ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพใน League of Nations องค์กรนานาชาติที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เสนอให้บรรจุวาระขับเคลื่อนด้านสุขภาพ มุ่งเน้นการกระจายบริการสุขภาพผ่านเครือข่ายคลีนิกรายย่อย แต่ข้อเสนอก็ถูกปัดตกเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

ภายหลังสงครามโลกจบ ในปี 1946 สมาชิกองค์การสหประชาชาติเริ่มนำประเด็นสุขภาพกลับมาพูดคุยอีกครั้ง ในขณะที่กำลังหารือร่างธรรมนูญสำหรับการก่อตั้งองค์การอนามัยโลกในปี 1948 มีการยกให้สุขภาพ เป็นสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่ง และรัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบสุขภาพของประชาชน

สหรัฐอเมริกาปฏิเสธการเข้าร่วมองค์การอนามัยโลกและเนื้อหาของธรรมนูญในตอนแรก เพราะมองว่าสวัสดิการด้านสุขภาพเข้าข่ายกรอบแนวคิดแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ แต่สหรัฐอเมริกาก็เข้าร่วมองค์การอนามัยโลกในที่สุด บนเงื่อนไขที่ว่าตนว่าจะลาออกจากการเป็นประเทศสมาชิกเมื่อไรก็ได้

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลา 20 ปีแรกขององค์การอนามัยโลก ยังเน้นไปที่การทำโครงการป้องกันและรักษาโรคเฉพาะอย่าง ไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบสุขภาพที่ดีในภาพรวม  

ในปี 1978 องค์การอนามัยโลกผลักดันให้เกิดโครงการ Alma-Ata Declaration เน้นสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพในระดับชุมชน แต่กลับทำได้ไม่สำเร็จ เพราะผู้นำประเทศไม่ปฏิบัติตาม ยังติดกรอบแนวคิดทางการแพทย์แบบดั้งเดิม ที่เน้นรักษาโรคเฉพาะด้านที่ปลายทาง ทั้งยังขาดแนวทางติดตามและประเมินความคุ้มค่าของโครงการ

เมื่อเปรียบเทียบกับองค์การยูนิเซฟ ซึ่งเสนอทำโครงการให้วัคซีนป้องกันโรคหัด บาดทะยัก และโปลิโอ กับเด็ก 4-5 ล้านคนทั่วโลกในตอนนั้น กลับสามารถบรรลุเป้าหมายงาน เพราะมีแผนงานและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ทำให้องค์การยูนิเซฟกลายเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จ มีงบประมาณมากกว่าองค์การอนามัยโลกถึง 3 เท่าในปี 2019

การผลักดันประเด็นระบบสุขภาพมาเห็นเป็นรูปธรรมภายหลังปี 2019 เมื่อองค์การอนามัยโลกหันมารณรงค์แนวคิด “สุขภาพดีถ้วนหน้า” หรือ “Health for all” ซึ่งรวมถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนทั้งชาติ

ในการการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High – Level Meeting on Universal Health Coverage) ในปีเดียวกันนั้น ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมาย ให้รัฐบาลต้องลงทุนด้านสุขภาพอย่างน้อย 1% ของจีดีพี ขณะที่ผู้นำจากทุกประเทศสมาชิกเซ็นต์สัญญาว่าจะสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศของตนเอง

เพื่อตรวจสอบว่าผู้นำเหล่านั้นทำตามคำมั่นสัญญาหรือไม่ นักวิจัยด้านสุขภาพทั่วโลกจึงรวมตัวกันติดตามและตรวจสอบ ขณะที่ทีโดรสตั้งสภาที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลก ประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและการพัฒนา เพื่อศึกษาผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากการเข้าถึงการบริการสุขภาพ

บทบรรณาธิการของ Nature Portfolio สรุปในตอนท้ายว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาจดูเหมือนเป็นเรื่องรองในช่วงโรคระบาด แต่ถ้าประเทศไม่ผลักดันมันให้สำเร็จในตอนนี้ ประเทศเหล่านั้นจะเสียใจในภายหลัง

ในเดือน ต.ค. ปี 2019 ก่อนมีรายงานพบโรคโควิดเพียงไม่กี่เดือน  ทีโดรสได้พูดไว้ในเวทีการประชุมหนึ่งว่า

“หากเราล้มเหลว ไม่ลงทุนในระบบสุขภาพ มันไม่ใช่เพียงแต่จะทิ้งให้ผู้คน ครอบครัว และชุมชน ให้เจอความเสี่ยง มันยังทำให้โลกนี้เปราะบางต่อโรคระบาด และปัญหาสุขภาพเร่งด่วนที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน  โรคระบาดนี้จะทำให้ระบบเศรษฐกิจและประเทศชาติล้มลงนอนกับพื้น”

“เราจะยอมให้มันเกิดขึ้นแบบเดิมไม่ได้” บทบรรณาธิการทิ้งท้าย เรียกร้องให้ทุกประเทศลงทุนกับระบบสุขภาพ เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในตอนนี้

อ้างอิง  
https://www.nature.com/articles/d41586-021-01313-3