ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงเสวนาชี้ปัญหาคุกคามทางเพศใน "สถานศึกษา" พบการอนาจาร-คุกคาม ทั้งจากครู-รุ่นพี่ จี้สถานศึกษาเร่งแก้ไขเชิงนโยบาย เปิดพื้นที่ร้องเรียนที่เป็นธรรม-เปิดหลักสูตรปรับทัศนคติ


น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยในเสวนาออนไลน์หัวข้อ “สถานศึกษากับปัญหาคุกคามทางเพศ” เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า การคุกคามทางเพศมีทั้งทางตรง และทางอ้อม คือผ่านการใช้สายตา ท่าทาง คำพูด ร่างกาย หรือสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ทำให้ผู้เป็นเป้าของการกระทำนั้นเดือดร้อน อึดอัด ไม่พอใจ เครียด หวาดระแวง หวาดกลัว และรู้สึกไม่ปลอดภัย

ทั้งนี้ พบว่าในปี 2562 มีข่าวการคุกคามทางเพศกว่า 333 ข่าว ซึ่งน่าตกใจว่าเป็นข่าวเด็ก วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษากว่า 84.8% และจากการติดตามข่าวการคุกคามทางเพศในสถานศึกษาช่วงปี 2562-2564 พบว่ามี 12 กรณี แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษา 6 กรณี ผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่า คือ ครู ส่วนผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เก็บเรื่องไว้ไม่กล้าบอกใคร จนครอบครัวเห็นจากโทรศัพท์โดยบังเอิญ ทำให้เด็กเกิดภาวะเครียด ป่วยโรคซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย

ส่วนการคุกคามทางเพศในระดับมหาวิทยาลัย 6 กรณี ผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่า คือ อาจารย์ เพื่อนรุ่นพี่ เป็นต้น โดยเข้ามาในลักษณะความห่วงใย เป็นแฟนและพยายามข่มขืน ซึ่งผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ต้องการดำเนินคดีกับคู่กรณี

น.ส.อังคณา กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ มีข้อเสนอว่า 1. สถานศึกษาควรส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศให้แก่นักเรียน นักศึกษา 2. ควรมีช่องทางการร้องเรียนที่หลากหลาย โดยช่องทางแรกที่ควรทำคือการเข้าถึงและพูดคุยให้คำแนะนำเบื้องต้น เช่น หากผู้ถูกกระทำต้องการแจ้งความดำเนินคดี จะถูกตั้งคำถามอย่างไรบ้าง หรืออธิบายถึงขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินคดี ใครบ้างที่ต้องถูกเรียกตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กระบวนการพิสูจน์ พยาน หลักฐานเป็นอย่างไร เป็นต้น

3. กฎหมายที่คุ้มครองการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์มีน้อยมาก หรืออาจไม่เคยหยิบยกมาเป็นประเด็นพิจารณาเลย เรื่องนี้เป็นช่องว่างของกฎหมาย ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ในการให้คำปรึกษาให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา เด็กเยาวชนผู้ถูกกระทำ โดยสามารถร้องเรียนมาได้ที่เพจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

น.ส.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกคนทราบดีว่าการคุกคามทางเพศเป็นอาชญากรรม และปัญหาในมหาวิทยาลัยกลับถูกซุกอยู่ใต้พรมมานาน เพราะนักศึกษาชายกับหญิงตีความต่างกัน โดยนักศึกษาชายตีความนิยามแบบแคบว่าต้องเป็นการข่มขืนถึงเรียกว่าเป็นการคุกคามทางเพศ แต่นักศึกษาหญิงจะตีความแบบกว้างโดยมองว่าการคุกคามทางเพศจะครอบคลุมทั้งเรื่องการใช้วาจา สายตา ภาษากาย ข่มขืน

น.ส.ชเนตตี กล่าวว่า ขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ไม่มีกระบวนการให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้เพราะคิดว่าปัญหาไม่มีอยู่จริง ซึ่งตนมองว่าทั้งนักศึกษาชายและหญิงต่างก็เป็นเหยื่อ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่อันตราย ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านในหลายๆ เรื่องของวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ ดังนั้นบางเรื่องอาจจะละเอียดอ่อนจนไม่ทันคิดว่านั่นคือปัญหาการคุกคามทางเพศ บวกกับการตีความที่ต่างกัน 

"ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข คือมหาวิทยาลัยต้องเปิดอบรมนักศึกษาให้เปลี่ยนทัศนคติเรื่องการคุกคามทางเพศที่ถูกต้องให้กับนักศึกษาทุกคน ว่าครอบคลุมทั้งกาย วาจา สายตา ให้รู้จักการเคารพสิทธิ เนื้อตัวผู้อื่น ควบคู่กับการเปิดพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนที่สร้างความปลอดภัย เป็นมิตรกับทุกคน และเป็นธรรม เรื่องเหล่านี้ต้องดำเนินการแก้ไข เพราะมีการศึกษาทางการแพทย์พบว่าผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศนั้นจะเกิดผลกระทบทางจิตใจ นำไปสู่อาการทางจิตเวช และอาจจะนำมาสู่การทำร้ายตัวเองได้" น.ส.ชเนตตี กล่าว

ด้าน นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า วิถีวัฒนธรรมไทยที่ถูกส่งต่อกันมาจากผู้ใหญ่สู่เด็กคือรากเหง้าของปัญหา บวกกับปัจจัยร่วมอื่นๆ โดยเฉพาะการถูกกระตุ้นจากสื่อที่เข้าถึงง่าย ทำให้สถานการณ์การคุกคามทางเพศรุนแรงและกว้างขึ้น ซึ่งการเอาเยาวชนที่ทำผิดหนึ่งคนมาลงโทษไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งระบบได้ หากไม่แก้ไขที่รากเหง้า แต่ก็เข้าใจว่าการขุดรากเหง้านั้นทำยาก

นางทิชา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสามารถเปลี่ยนแนวทางเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จได้โดย 1. สถานศึกษาทุกระดับต้องมีหลักสูตรให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้านมืด ด้านอัปลักษณ์ของการคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะการเรียนรู้เชิงกระบวนการ 2. สถานศึกษาทุกแห่งต้องมีพื้นที่รับเรื่องร้องเรียน โดยเฉพาะกรณีครูละเมิดต่อนักเรียน ทั้งนี้กลไกดังกล่าวต้องมาพร้อมกับโรงเรียนที่เป็นมิตร ปลอดภัย ปราศจากระบบอำนาจนิยม 3. ต้องมีการลงโทษนักเรียนที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ถูกต้อง เป็นการให้บทเรียน แทนการลงโทษแบบผลักไสไล่ส่งออกไปจากสังคม