ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จับมือมูลนิธิครอบครัวพอเพียง จัดฝึกอบรม "UHC Young" สร้างเครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์กลุ่มเด็กและเยาวชน กว่า 950 คน มีความรู้ความเข้าใจสิทธิหลักประกันสุขภาพยุคใหม่


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ได้ร่วมกับมูลนิธิครอบครัวพอเพียง ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพของเครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนหลักประกันสุขภาพ (UHC Young) เพื่อสร้างเครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ยุคใหม่

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการให้ความรู้สิทธิหน้าที่และนโยบายใหม่ในระบบบัตรทอง แก่กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เข้าร่วมกว่า 950 คน ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักสูตร UHC 2021 เพิ่มพูนความรู้ทักษะ Health Literacy หรือความรอบรู้ด้านสุขภาพ ในรูปแบบคลิปวีดีโอ เผยแพร่ในแฟนเพจ UHC YOUNG SEEDS โดยมีเนื้อหาการเรียนการสอนใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ช่องทางการตรวจสอบสิทธิ 2. บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของวัยรุ่น 3. โรคมะเร็งรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม

สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนนี้ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 มิ.ย. 2564 ซึ่งผู้เรียนจะต้องผ่านแบบทดสอบโดยได้คะแนนไม่น้อยกว่า 80% จึงได้ใบประกาศนียบัตรรับรองจาก สปสช. เป็นกลุ่ม UHC Young ที่มีความรู้เรื่องการใช้สิทธิและนโยบายยกระดับสิทธิบัตรทอง โดยจะมีการสรุปผลการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ และสรุปผลงานการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทางแฟนเฟจเฟซบุ๊ก UHC YOUNG SEEDS อีกครั้ง

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้ดำเนินงานสร้างการรับรู้ ความเข้าใจวิธีการใช้สิทธิและไปใช้บริการเมื่อจำเป็น โดยการเผยแพร่ความรู้และสื่อประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ หนึ่งในนั้นคือการสื่อสารเชิงรุกในกลุ่มเด็กเยาวชนช่วงปิดภาคเรียนในรูปแบบการฝึกอบรมแบบพักค้าง "ค่ายพลเมืองใหม่หลักประกันสุขภาพ" (UHC Young Camp) โดยมีเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมและผ่านการอบรมกว่า 990 คน จาก 145 โรงเรียน

"อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 รัฐบาลมีมาตรการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ ทั้งการปิดสถานศึกษา การงดเดินทางข้ามจังหวัด การงดกิจกรรมรวมกลุ่มและการเว้นระยะห่าง ส่งผลกระทบให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ ในปี 2564 จึงได้ปรับรูปแบบการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของกลุ่มเด็กและเยาวชนผ่านออนไลน์แทน" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากการจัดกิจกรรมให้ความรู้แล้ว ยังได้มีการจัดกิจกรรมการประกวดสื่อประชาสัมพันธ์สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา แบ่งเป็นสื่อโปสเตอร์หรือสื่ออินโฟกราฟฟิก จำนวน 10 รางวัล และสื่อมัลติมีเดียหรือสื่อประชาสัมพันธ์เคลื่อนไหว จำนวน 10 รางวัล ซึ่งได้มีการตัดสินไปแล้วเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 โดยผลงานที่ได้รับรางวัลจะเผยแพร่ในช่องทางสื่อออนไลน์ต่อไป

อนึ่ง รายชื่อผู้ได้รับรางวัล ประเภทสื่อโปสเตอร์ หรืออินโฟกราฟฟิก ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ นายปิติภัทร เอกปณิธานพงศ์ โรงเรียนสารคามพิทยาคม จ.มหาสารคาม รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 นายสุรดิษ จันทะบูลย์ โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จ.อุดรธานี และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 น.ส.กชกร ศรีรัตนภมร โรงเรียนดาราวิทยาลัย จ.เชียงใหม่

ส่วนประเภทสื่อมัลติมีเดีย หรือสื่อเคลื่อนไหว รางวัลชนะเลิศ น.ส.ปิยะฉัตร ปันชู, นายกาจพล ดวงแก้ว, น.ส.อันนา ยามะณี โรงเรียนปัว จ.น่าน รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 น.ส.พาณิภัค เข็มกลัด โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม จ.สระบุรี และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 น.ส.พัชรพร ภู่สวัสดิ์ โรงเรียนราชวินิตบางเขน กทม.