ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ChulaCov19" วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA จากศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการทดสอบการฉีดในมนุษย์เป็นครั้งแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 "The Coverage" ชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจว่าวัคซีนชนิดนี้มีจุดเด่นอย่างไรบ้าง

1. เก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่นอย่างมาก

จากการทดสอบความทนต่ออุณหภูมิของวัคซีน พบว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่นเป็นอย่างมาก

2. ผลการทดสอบในสัตว์ผ่านเกณฑ์ดีมาก ลดจำนวนเชื้อไปได้กว่า 10,000,000 เท่า

จากการทดลองในหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ พบว่าเมื่อหนูได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ แล้วให้หนูทดลองได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า เมื่อทดสอบความเป็นพิษก็พบว่าปลอดภัยดี ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเกิดอาการป่วยโควิด-19 ภายใน  3-5 วัน และทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือด ในจมูก และปอด เป็นจำนวนมาก

3. สามารถผลิตได้เร็วไม่เกิน 4 สัปดาห์ ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้อ

วัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้ออย่างวัคซีนบางชนิด แต่วัคซีนชนิด mRNA เพียงรู้สายพันธุ์ของเชื้อก็ไปออกแบบวัคซีนได้ สังเคราะห์ในหลอดทดลอง ไม่เกิน 4 สัปดาห์มีวัคซีนมาทดสอบในหนูได้ การที่ผลิตได้รวดเร็วนี้ ทำให้ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ นอกจากนี้ เมื่อเกิดเชื้อกลายพันธุ์ก็สามารถสังเคราะห์วัคซีนได้เร็วเช่นกัน

- ความคืบหน้า

ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 จำนวนอาสาสมัคร 72 คน (14 มิ.ย. 2564)
ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 จำนวนอาสาสมัคร 150-300 คน (ราว ส.ค. 2564 เป็นต้นไป)
ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 N/A (อาจยกเว้นได้หาก WHO/NIH กำหนดหลักเกณฑ์ออกมา)
คาดการณ์ช่วงกลางปี 2565 จะได้รับการ "อนุมัติ" ให้ผลิตเพื่อใช้ในคนจำนวนมากได้

- เตรียมพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2

ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการเตรียมความพร้อมพัฒนาทดลองวัคซีนรุ่นที่สองกับสัตว์ทดลองควบคู่กันไปกับรุ่นแรก เพื่อรองรับเชื้อดื้อยาหรือเชื้อกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวล อาทิ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล ฯลฯ หากทุกอย่างเป็นตามแผนคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนที่ใช้ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ที่ดื้อวัคซีนได้เพื่อทดสอบในอาสาสมัครภายในไตรมาสสี่ของปี 2564