ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์จุฬาฯ เริ่มฉีดทดลองวัคซีนโควิดรุ่นแรกของไทย "ChulaCov19" ในมนุษย์ครั้งแรก ตรวจสอบประสิทธิภาพในกลุ่มอาสาสมัคร 72 ราย ก่อนทดสอบเฟสสองอีก 150-300 ราย หวังอนุมัติใช้ได้กลางปีหน้า


โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันทดสอบการฉีดวัคซีน ChulaCov19 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 ให้กับอาสาสมัครผู้ผ่านการคัดกรองที่มีสุขภาพดีระยะที่ 1 และต่อเนื่องในระยะที่ 2 เพื่อดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล และทีมนักวิจัย

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัยวัคซีนได้ทำการทดลองในลิงและหนู ซึ่งประสบผลสำเร็จ พบว่าสามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิตและทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัครในวันนี้เป็นวันแรก

สำหรับการทดสอบในระยะที่ 1 ได้แบ่งอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่มอายุ จำนวน 72 คน กลุ่มแรกอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 คน กลุ่มที่สองอายุ 65-75 ปี จำนวน 36 คน โดยทั้งสองกลุ่มจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่ฉีดวัคซีน 10 ไมโครกรัม, 25 ไมโครกรัม และ 50 ไมโครกรัม เพื่อดูว่าวัคซีน ChulaCov19 มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ปริมาณเท่าไร

"ปัจจุบันโมเดอร์นาใช้วัคซีนปริมาณ 100 ไมโครกรัม ส่วนไฟเซอร์ใช้ 30 ไมโครกรัม ทางศูนย์ฯ ต้องศึกษาว่าคนไทยหรือเอเชียเหมาะกับการฉีด 10 หรือ 25 หรือ 50 ไมโครกรัม จะได้รู้ขนาดที่ปลอดภัยและกระตุ้นภูมิได้สูง หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่ 2 จำนวน 150-300 คน ซึ่งคาดว่าเริ่มต้นฉีดได้ประมาณเดือน ส.ค. 2564 เป็นต้นไป" ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า วัคซีน ChulaCov19 เป็นการคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทย จากความร่วมมือสนับสนุนโดยแพทย์นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ของโลกคือ Prof. Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย โดยได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน อาทิ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเงินบริจาค เป็นต้น

ทั้งนี้ วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัส (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า การทดสอบวัคซีนนั้นได้คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของอาสาสมัคร ต้องใช้ระยะเวลาและทยอยฉีดตามลำดับ โดยใช้หลักการเหมือนกันทั่วประเทศ ถึงจะทราบข้อมูลจากผลการศึกษาว่าสามารถป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้จริงหรือไม่ หากองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ได้ว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต้องกระตุ้นภูมิเท่าไร ก็จะช่วยลดขั้นตอนได้

"สมมุติว่าเกณฑ์วัคซีนโควิด-19 ที่ดีต้องสร้างภูมิคุ้มกันมากกว่า 80 IU (International Unit) ถ้าหากวัคซีน ChulaCov19 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าค่านี้แสดงว่ามีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ก็สามารถยกเว้นการทำทดสอบทางคลินิกระยะที่สามได้ วัคซีนนี้อาจได้รับอนุมัติให้ผลิตเพื่อใช้ในคนจำนวนมากได้ภายในก่อนกลางปีหน้า" ศ.นพ.เกียรติ กล่าว