ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาวะ VITT มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการยาวเหยียด

นั่นก็คือ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตันภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือ Vaccine-induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia : VITT

เป็นไปตามชื่อ ... ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยจะแสดงอาการหลังจากได้รับวัคซีนโควิดไปแล้วราว 4-30 วัน

ทว่า อัตราส่วนการเกิดน้อยมากๆ อยู่ที่ 1 : 125,000 – 1 : 1,000,000 ของผู้ได้รับวัคซีน

--- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ---

ศ.นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า คำว่า “ลิ่มเลือดอุดตัน” นั้นมีได้หลายอย่าง เช่น อุดตันในหลอดเลือดแดง อุดตันในหลอดเลือดดำ แต่ภาวะ VITT เป็นลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ ซึ่งมี “ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ” ร่วมอยู่ด้วย

สำหรับลิ่มเลือดอุดตัน ที่ผ่านมา ในประเทศอังกฤษและประเทศแถบยุโรป มีการระงับการใช้วัคซีนโควิด “AstraZeneca” เป็นการชั่วคราว เนื่องจากพบ “ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ” (VTE) ส่วนใหญ่จะอุดตันที่ขา แต่บางรายลิ่มเลือดหลุดไปถึงปอด ซึ่งอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต

VTE ในต่างประเทศโดยเฉพาะแถบตะวันตก อุบัติการณ์อาจเป็น 1 ต่อ 1,000 แต่ในฟากฝั่งเอเชียแล้ว ตัวเลขจะต่ำกว่านี้ถึง 5 เท่า สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และอาหาร

แต่สำหรับภาวะ VITT ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ ส่วนใหญ่จะเกิดจาก “หลอดเลือดดำในสมอง” และมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วย ซึ่งเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 ประเทศทางยุโรปได้ประกาศให้ภาวะ VITT เป็นโรคหายาก (Rare syndrome) ของโรคลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) และ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ(Thrombocytopenia)

นอกจากนี้ ภาวะ VITT ถือเป็นกลุ่มอาการใหม่ ซึ่งยังไม่สามารถทราบได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ฉะนั้นแล้วก็จะใช้กลุ่มอาการกว้างๆ ว่า เป็น ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (TTS)

--- ปวดหัวเกิน 4-5 วัน ให้พบแพทย์ ---

ส่วนใหญ่ภาวะ VITT จะเกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้ง AstraZeneca และ Johnson&Johnson ไปแล้วราว 4-28 วัน

“ผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 วันแรก และเกิดอาการปวดหัว อาจจะมาจากผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 ทั่วไป ส่วนมากจะหายได้เองภายใน 1-3 วัน แต่ถ้าเกิน 4-5 วันไปแล้ว อาการปวดหัวยังไม่ดีขึ้น หรือปวดมากขึ้น ผู้ป่วยควรจะต้องกลับไปพบแพทย์ทันที” ศ.นพ.พันธุ์เทพ ระบุ

ที่ประเทศอังกฤษ ได้กำหนดระยะสังเกตการณ์ไปจนถึง 42 วัน เนื่องจากพบว่า ผู้ป่วยบางรายอาจจะเกิดภาวะ VITT ในช่วงเดือนแรก และอาจจะเริ่มมีการในเดือนถัดไป

อาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีประวัติลิ่มเลือด อายุค่อนข้างน้อย และส่วนมากมักจะเกิดขึ้นในการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก

ที่สำคัญก็คือภาวะ VITT มีความรุนแรง มักจะมีเลือดออกร่วมด้วย ทำให้การรักษานั้นค่อนข้างยากเนื่องจากผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วย นอกจากนี้ก็ยังพบลิ่มเลือดอุดตันในช่องท้อง

“แต่ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก เนื่องจากถ้ามีการวินิจฉัยและรักษาเร็ว ก็จะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้ ถ้ามองว่าผู้ป่วยฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 4-28 วัน และมีอาการปวดหัวรุนแรงไม่หาย-ชัก-แขนขาอ่อนแรง- ปวดท้อง หรือบางรายมีอาการปวดหลัง ส่วนตัวก็อยากให้มองถึงภาวะ VITT และส่งต่อเพื่อเอกซเรย์ตามลำดับ” ศ.นพ.พันธุ์เทพ ระบุ

--- ป่วยโควิดเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าวัคซีน ---

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายเพิ่มอีกว่า ภาวะ VITT เป็นภาวะเดียวที่เป็นอันตราย และสามารถพิสูจน์ได้ว่าเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยจะพบประมาณ 4:1,000,000 และเสียชีวิต 1:1,000,000 ของผู้ได้รับวัคซีนในยุโรป

สำหรับประเทศไทย คาดว่าภาวะ VITT จะเกิดขึ้นน้อยกว่าในประเทศแถบยุโรป โดยในประเทศแถบเอเชียนั้น จะเห็นได้ว่าพบน้อยกว่า 1:1,000,000 ของผู้ได้รับวัคซีนเท่านั้น

ทว่า วัคซีนโควิด-19 นั้นก็ยังมีประโยชน์มหาศาล เพราะถ้าเมื่อใดที่ผู้ป่วยติดโควิด-19 ก็จะมีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดในภาวะที่สูงกว่า และเสียชีวิตได้มากกว่า

“คาดว่าจะมีจำนวนที่น้อย แต่เราก็จะต้องไม่พลาด และต้องทำระบบอย่างไรก็ได้ไม่ให้เกิดการเสียชีวิต และแม้จะมีปัญหาภาวะ VITT แต่ความเสี่ยงของวัคซีนโควิด-19 นั้น ถือว่ายังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากความเสี่ยงของโรคนั้นเยอะกว่าในทุกช่วงอายุ” ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุ

--- ‘บัตรทอง’ ได้เพิ่มสิทธิดูแลภาวะ VITT แล้ว ---

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า ตามรายงานอุบัติการณ์ของภาวะ VITT นั้นพบว่า 1 : 125,000 – 1 : 1,000,000 ส่วนมากพบในหญิงอายุน้อยกว่า 55 ปี และเริ่มมีอาการหลังจากได้รับวัคซีนโควิด-19 ประมาณ 4-30 วัน

อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 เพื่อหารือวิธีการดูแลประชาชนที่อาจจะเกิด Rare Adverse Event โดยเฉพาะการฉีดยา Human normal immunoglobulin, intravenous (IVIG) รวมถึงในกรณีที่สงสัยว่าประชาชนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วจะมีภาวะ ก็สามารถส่งตรวจตรวจทางห้องปฏิบัติการ และจะมีวิธีการที่สามารถทำให้ครอบคลุมได้อย่างไร

“เมื่อไหร่ที่ทางตรวจทางห้องปฏิบัติการชี้ว่าเป็น ภาวะ VITT ผู้ป่วยก็จะสามารถใช้ยา IVIG ได้” อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ

อย่างไรก็ดี ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab) เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุการตรวจและรักษาภาวะ VITT ไปแล้ว

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร บอร์ด สปสช. บอกว่า แม้ว่าอุบัติการณ์ของภาวะ VITT จะต่ำมาก แต่บอร์ด สปสช. ก็ได้เห็นชอบสิทธิประโยชน์ใหม่ เพื่อเป็นการยืนยันว่าประชาชนที่เกิดอาการดังกล่าวจะได้รับการคุ้มครองรักษาอย่างเต็มที่

สำหรับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าว เป็นการเพิ่มพิเศษเฉพาะกรณี VITT ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด-19  จากปกติที่โรคต่างๆ จะถูกคำนวณน้ำหนักสัมพัทธ์แล้วจ่ายเงินค่ารักษาตาม DRG แต่สำหรับกรณีภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตันภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 จะมีงบประมาณแยกต่างหาก ไม่ได้นำไปเหมารวมจ่ายอยู่ใน DRG ด้วย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. อธิบายว่า สิทธิประโยชน์ใหม่นี้ จะครอบคลุมการเบิกจ่าย 4 รายการ ได้แก่ 1. การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง CBC 2. การตรวจวินิจฉัย Heparin-PF4 antibody (lgG) ELISA assay 3. การตรวจวินิจฉัย Heparin induced Platelet activation test (HIPA) และ 4. ยา Human normal immunoglobulin, intravenous (IVIG) ซึ่งให้เบิกจ่ายตามระบบ VMI โดย สปสช. คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 9.28 ล้านบาท

สำหรับยา IVIG สำหรับรักษาภาวะ VITT นั้น ไม่อยู่ในข้อบ่งใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงต้องเบิกจ่ายตามระบบ VMI ภายใต้เงื่อนไขการดำเนินการโครงการศึกษาและพัฒนาบริการ

ทั้งนี้ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโลหิตวิทยา และคณะทำงาน AEFI ที่จะดำเนินการร่วมกันใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. พัฒนาหน่วยตรวจให้ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพของประเทศ 2. ติดตามข้อมูลอุบัติการณ์การเกิด VITT 3. ประเมินประสิทธิผลของยา IVIG และหลังจากที่ได้ดำเนินการครบระยะเวลา 1-2 ปี ให้มีการทบทวนสิทธิประโยชน์ในกรณีนี้อีกครั้ง

“ขอย้ำว่าผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 4-30 วัน มีอาการปวดศีรษะรุนแรง แขนขาชาอ่อนแรง หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ชัก ตามัว เห็นภาพซ้อน เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก ปวดท้องหรือปวดหลังรุนแรง ขาบวมแดง หรือ ซีด เย็น แนะนำให้เข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง โดย สปสช. จะสนับสนุนค่าตรวจรวมทั้งค่ารักษาให้ นพ.จเด็จ ระบุ