ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การเกิดขึ้นของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยในปี 2545 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านการเงินส่วนบุคคล พูดอีกอย่างก็คือคนไม่มีเงินก็เข้าถึงการรักษาได้ ที่สำคัญคือช่วยลดจำนวนครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินอันเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ลงได้มาก 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของคนไทยจะลดลง แต่จากการวิจัยโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กลับพบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทยกลับไม่ได้ลดลงอย่างที่คิด

จากการค้นหาข้อเท็จจริงเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา พบว่าครัวเรือนไทยยังมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจำนวนใกล้เคียงกับช่วงก่อนมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า กล่าวคือช่วงปี 2533-2543 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทยมีมูลค่า 4-7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ช่วงปี 2547-2558 มูลค่าการใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนก็อยู่ที่ 5-6 หมื่นล้านบาท 

เกิดอะไรขึ้นอย่างนั้นหรือ?

ดร.รักมณี บุตรชน นักวิจัยของ HITAP ซึ่งทำการศึกษาในหัวข้อ "การค้นหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับรายจ่ายสุขภาพที่ประชาชนต้องจ่ายด้วยตัวเองในประเทศไทย" กล่าวว่า หลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นในปี 2545 พบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ครัวเรือนไทยจ่ายเงินเอง (OOPE) เมื่อเทียบกับรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศ ลดลงจาก 45% ในปี 2537 เหลือ 12% ในปี 2555

จำนวนครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็ลดลงจาก 7% ในปี 2533 เหลือ 2% ในปี2559 และอุบัติการณ์ของครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนจากรายจ่ายสุขภาพก็ลดลงจาก 2.3% ในปี 2533 เหลือเพียง 0.3% ในปี 2559 รวมทั้งตัวเลขค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกในสถานพยาบาลของรัฐก็มีแนวโน้มลดลง จาก 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2541 ลดลงเหลือ 3.5 พันล้านบาทในปี 2558

ดร.รักมณี กล่าวว่า ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการมีระบบหลักประกันสุขภาพ อย่างไรก็ดี แม้สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนจะลดลงเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ปัจจัยที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ครัวเรือนต้องจ่ายเองยังใกล้เคียงกับช่วงก่อนมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการซื้อยาและเวชภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และครัวเรือนที่มีระดับรายได้สูง ยังมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพส่วนใหญ่เป็นค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน

"ในช่วงปี 2541 ถึง 2550 ครัวเรือนไทยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการซื้อยาแผนปัจจุบันมากที่สุด รองลงมาคือยาสมุนไพร/ยาแผนโบราณ วิตามิน/ยาบำรุง/อาหารเสริม ยาคุมกำเนิด/ถุงยางอนามัย และเวชภัณฑ์/อุปกรณ์ปฐมพยาบาล แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ค่ายาและเวชภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้นจาก 8.6 พันล้านบาทในปี 2533 เพิ่มเป็น 2.2 หมื่นล้านบาทในปี 2558 และสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านวิตามิน/ยาบำรุง/อาหารเสริมมากกว่ายาสมุนไพร/ยาแผนโบราณ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า จาก 465 ล้านบาทในปี 2545 เป็น 7.7 พันล้านบาทในปี 2558 (ข้อมูลทั้งหมดมีการปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว)" ดร.รักมณี กล่าว

ดร.รักมณี กล่าวว่า มูลค่ารวมของรายจ่ายด้านวิตามิน ยาบำรุง และอาหารเสริมที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 7.7 พันล้านบาทนั้น เป็นมูลค่าที่สูงกว่าค่ารักษาผู้ป่วยในของโรงพยาบาลเสียอีก และยังพบว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงจะมีค่าใช้จ่ายในรายการเหล่านี้สูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะครัวเรือนในพื้นที่ กทม. มีการบริโภควิตามิน ยาบำรุงและอาหารเสริมมากถึง 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ

เช่นเดียวกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของครัวเรือนไทย ก่อนปี 2545 ครัวเรือนไทยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายการเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลของรัฐมากกว่าโรงพยาบาลเอกชน แต่หลังปี 2545 กลายเป็นว่าการเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลเอกชนกลับมากกว่า

โดยตัวเลขในปี 2558 พบว่าค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลของครัวเรือนไทยเป็นค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลเอกชนถึง 59% หรือ 1.7 หมื่นล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในอยู่ที่ 21% หรือ 6 พันล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลของรัฐอยู่ที่ 12% หรือ 3.5 พันล้านบาท และผู้ป่วยในอีก 9% หรือ 2.5 พันล้านบาท

"เมื่อเจาะลึกลงไปดูว่าครัวเรือนที่ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนมากที่สุดก็คือครัวเรือนที่มีรายได้สูง ส่วนคนที่ได้รับประโยชน์จากการมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากกว่ากลุ่มอื่นๆ คือครัวเรือนที่มีผู้อาศัยในภาวะพึ่งพิง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุและคนพิการ เพราะมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลงมากกว่าครัวเรือนที่ไม่มีผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง" ดร.รักมณี กล่าว

เมื่อทราบข้อมูลเช่นนี้แล้ว นโยบายของภาครัฐควรทำอย่างไรต่อ ในฐานะนักวิจัย ดร.รักมณี  ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการบริโภควิตามิน ยาบำรุง อาหารเสริม หรือสมุนไพร มีประสิทธิผลจริงแม้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะอนุมัติการขึ้นทะเบียนก็ตาม

ดร.รักมณี มองว่าข้อมูลนี้อาจสะท้อนว่ามีการโฆษณาสินค้าเหล่านี้มากหรือไม่  ยิ่งปีที่ผ่านมาคนหันมาซื้อของออนไลน์มาก ดังนั้นตัวเลขมูลค่าการจ่ายเงินเพื่อซื้อวิตามินหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในปัจจุบันอาจสูงมากกว่าที่ระบุในงานวิจัยเสียอีก

"ควรสร้างความตระหนักแก่ผู้บริโภคในเชิงวิชาการว่าไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ผลจริง ปัจจุบันเรามี Information เยอะมาก ทำอย่างไรให้ผู้บริโภครู้ว่าควรรับข้อมูลจากแหล่งไหน และทิศทางนโยบายอาจต้องโฟกัสให้ตรงกลุ่ม กลุ่มรายได้สูงเน้นสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องวิตามิน ยาบำรุง อาหารเสริม ส่วนกลุ่มที่มีรายได้น้อยก็โฟกัสที่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขณะเดียวกันก็เป็นคำถามว่าอาจต้องมีมาตรการกำกับควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วยหรือไม่" ดร.รักมณี กล่าว

อย่างไรก็ดี ในส่วนของค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าโรงพยาบาลของรัฐนั้น ดร.รักมณี มองว่าเป็นไปตามกลไกตลาด เข้าใจว่าโรงพยาบาลรัฐมีความแออัดทำให้คนบางส่วนโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้สูงไม่อยากเสียเวลารอเข้ารับบริการ

แต่ส่วนตัวมองว่าหน่วยบริการของรัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีความพยายามคิดหาแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น มาตรการเรื่องการลดระยะเวลารอคอย การส่งทีมหมอครอบครัวลงไปให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อกระจายคนไข้ไม่ให้มาแออัดที่โรงพยาบาล เป็นต้น