ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ท่ามกลางความพยายามเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก มีรายงานผลข้างเคียงที่เกิดกับผู้รับวัคซีนเป็นระยะ ตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น ปวดเมื่อย เป็นไข้ และอ่อนเพลีย ไปจนถึงอาการรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิต โดยเกิดขึ้นกับผู้รับวัคซีนในทุกยี่ห้อ

เนื่องจากวัคซีน-19 ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนา บริษัทผู้ผลิตจึงปฏิเสธการขายวัคซีนให้กับภาคเอกชน ขายให้เฉพาะหน่วยงานรัฐบาล เพราะรัฐบาลสามารถทำหน้าที่เป็นผู้รับประกัน และแบกรับความเสี่ยงที่อาจเกิดจากผลข้างเคียงของวัคซีน

ในประเทศที่ภาครัฐไม่มีกลไกเยียวยาความเสียหายที่เกิดหลังการรับวัคซีน การเยียวยาอาจเกิดขึ้นได้ลำบาก เพราะขาดระบบและหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่นี้

มีเพียง 25 จาก 194 ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก ที่สร้างกลไกการเยียวยาความเสียหายจากการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด โดยมีกลไกนี้มาตั้งแต่ก่อนเกิดโรคโควิดระบาด

การไม่พิสูจน์ถูกผิด ทำให้ผู้ได้รับความเสียหายได้รับการเยียวยาแบบทันท่วงที ก่อนที่ความเสียหายจะบานปลาย เป็นประโยชน์กับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และยังมีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ด้านผลข้างเคียงของวัคซีนไม่เพียงพอ

สำหรับประเทศที่มีกลไกดังกล่าว ได้แก่ ประเทศในทวีปอเมริกา 2 ประเทศ (สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) ทวีปเอเชีย 6 ประเทศ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม เนปาล และไทย) และแถบโอเชียเนีย 1 ประเทศ (นิวซีแลนด์)

ทวีปยุโรปมี 16 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ รัสเซีย ลัตเวีย โซวาเนีย สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ

แต่ละประเทศมีกลเยียวยาแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ที่มาของงบประมาณเยียวยา แม่งานหลัก วิธีการส่งคำร้องขอรับการเยียวยา ไปจนถึงระยะเวลาในการร้องเรียนหลังเกิดความเสียหาย

65% ของ 25 ประเทศที่กล่าวมาข้างต้น มีรัฐบาลกลางทำหน้าที่เป็นผู้ให้การเยียวยาและชดเชยความเสียหายจากการฉีดวัคซีน อีก 17% ดำเนินโดยรัฐบาลท้องถิ่น มีเพียงฟินแลนด์และสวีเดนที่อนุญาตให้บริษัทประกันภัยในภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ

The Coverage รวบรวมตัวอย่างกลไกการเยียวยาที่ใช้ในประเทศต่างๆ ดังนี้  

จีน
รัฐบาลกลางจีนสั่งการให้รัฐบาลท้องถิ่นในทุกมณฑล สร้างกลไกเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนมาตั้งแต่ปี 2557 ผู้ได้รับความเสียหายสามารถส่งคำร้องขอค่าเยียวยาได้ที่เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ การพิจารณาเงินค่าชดเชยทำโดยเจ้าหน้าที่ระดับมณฑล ส่วนรัฐบาลกลางมีหน้าที่วางกฎเกณฑ์ในภาพรวม

ฟินแลนด์และสวีเดน
รัฐบาลให้บริษัทประกันภัยเข้ามาบริหารกลไกการเยียวยา ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้รับคำร้อง และพิจารณาค่าเยียวยาตามหลักเกณฑ์ที่วางโดยรัฐบาล ค่าเยียวยามาจากเงินที่ลงขันโดยบริษัทยา ในกรณีของฟินแลนด์ ผู้ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนได้ภายใน 10 ปีนับจากวันที่เกิดความเสียหายหลังการรับวัคซีน ส่วนสวีเดนไม่กำหนดระยะเวลา สามารถร้องเรียนเมื่อใดก็ได้

สหรัฐอเมริกา
รัฐบาลเป็นฝ่ายดำเนินกลไกเยียวยาเป็นหลัก ค่าชดเชยมาจากภาษีที่เก็บจากบริษัทยา โดยคิดภาษีที่ประมาณ 0.75 เหรียญสหรัฐ ต่อวัคซีน 1 โดส ผู้ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนได้ภายใน 3 ปีนับจากวันที่เกิดความเสียหายหลังการรับวัคซีน ในกรณีที่เสียชีวิต ญาติสามารถขอค่าชดเชยได้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่เสียชีวิต แต่ไม่เกิน 4 ปี 

นิวซีแลนด์
รัฐบาลให้ค่าเยียวยาภายใต้กกฎหมายชดเชยความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุ ซึ่งให้สิทธิชาวนิวซีแลนด์ทุกคนในการขอรับค่าเสียหาย หากเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งได้รับผลข้างเคียงจากการรับวัคซีน งบประมาณมาจากภาษีหลายก้อน ได้แก่ ภาษีทั่วไป ภาษีรายได้บุคคล ภาษีภาคธุรกิจ ภาษีป้ายทะเบียนรถยนต์ และภาษีน้ำมัน  

สำหรับจำนวนเงินชดเชยนั้น ทุกประเทศจ่ายค่าชดเชยตามลักษณะความเสียหายที่เกิดขึ้น

ในกรณีของเกาหลีใต้ หากผู้รับวัคซีนมีอาการป่วยหลังการฉีดยา ต้องเสียเงินรักษาความป่วยไข้อย่างต่ำ 7,800 บาท ก็มีสิทธิขอรับเงินค่าชดเชยตามค่ารักษาได้

ในเวียดนาม ผู้ที่พิการหลังการฉีดวัคซีนสามารถขอค่าชดเชยเทียบเท่ากับรายได้ 30 เดือน ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ ผู้มีอาการป่วยรุนแรงหลังการรับวัคซีน สามารถขอรับค่าชดเชยได้สูงถึง 2 ล้านบาท  

ในประเทศไทยเองก็มีกลไกเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดเช่นกัน

โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย ในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับค่าเยีวยาไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 100,000 บาท

อ้างอิง
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0233334
https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)00784-4/fulltext?rss=yes
https://www.abc.net.au/news/2021-05-07/vaccine-compensation-explainer-from-law-report/100107658
https://www.ecdc.europa.eu/en/publications-data/suspected-adverse-reactions-covid-19-vaccination-and-safety-substances-human