ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ริเริ่มโครงการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดย “ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด” ว่าผลข้างเคียงนั้น เกิดจากวัคซีนหรือไม่

โครงการนี้ต้องการสร้างความมั่นใจและปกป้องผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ทุกยี่ห้อยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ปัจจุบันได้รับอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้รับวัคซีนจะมีอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีด

แนวคิดการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดนั้น ถือเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ว่ามีประโยชน์ต่อการคุ้มครองและเยียวยาผู้รับวัคซีน รวมทั้งยังกระตุ้นให้คนอยากรับวัคซีนมากขึ้น

ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็ริเริ่มโครงการชดเชยค่าเสียหายระดับนานาชาติ โดยเซ็นข้อตกลงกับบริษัท Chubb ซึ่งเป็นประกันภัยระดับโลก เพื่อให้บริษัทเข้ามาจัดระบบเยียวยาความเสียหายให้กับผู้รับวัคซีนที่แจกจ่ายภายใต้โครงการ COVAX ซึ่งมี 92 ประเทศรายได้น้อยและปานกลางเข้าร่วม

ถือเป็นการสร้างกลไกเยียวยาความเสียหายจากวัคซีนระดับโลกครั้งแรก

บุคคลทั่วไปที่ได้พบผลข้างเคียงรุนแรงจากวัคซีนโควิด สามารถดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายผ่านเว็บไซต์ www.covaxclaims.com โดยงบประมาณที่ใช้จ่ายเยียวยามาจากการระดมทุนภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนขององค์การอนามัยโลก 

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการ​ใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า โครงการนี้จะลดภาระของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด โดยไม่ต้องเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อเรียกร้องค่าชดเชย

“บริษัท Chubb มีความเชี่ยวชาญในการจัดการด้านนี้ เพราะมีเครือข่ายระดับโลก และมีประสบการณ์การในวงการประกันภัยมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ ประชากรในประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับประโยชน์ และรับประกันความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีนภายใต้โครงการ COVAX” นายทีโดรส ระบุ

อีวาน กรีนเบิร์ก (Evan Greenberg) ซีอีโอแห่งบริษัท Chubb กล่าวว่า ตนมีความภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกในโครงการที่สำคัญระดับนานาชาติ

“โควิด 19 สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อผู้คนและเศรษฐกิจทั่วโลก การพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีนเป็นหนทางสำคัญที่จะทำให้เราหยุดวิกฤตินี้ได้ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์การกระจายวัคซีนจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่ได้รับวัคซีน” นายอีวานกล่าว

โครงการ COVAX ตั้งเป้าจะกระจายวัคซีนไปยังประเทศที่เข้าร่วมโครงการให้ได้อย่างน้อย 2,000 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้

แนวคิดการจ่ายเยียวยาโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมามีประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก 25 ประเทศ จากทั้งหมด 194 ประเทศ รวมถึงไทยที่ทำโครงการชดเชยความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ การรับยา และวัคซีน มาแต่เดิมอยู่แล้ว

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการชื่นชมในการจัดทำโครงการลักษณะนี้ โดยเริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2522 มีกระทรวงด้านสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิภาพเป็นแม่งาน และใช้งบประมาณจากกองทุนที่ลงขันโดยบริษัทยาเอกชน

ในส่วนของประเทศไทย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้ระบุไว้ในมาตรา 41 ให้ผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้เช่นกัน

อ้างอิง
https://www.who.int/news/item/22-02-2021-no-fault-compensation-programme-for-covid-19-vaccines-is-a-world-first
https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)00784-4/fulltext