ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศอัดฉีดงบประมาณมากกว่า 450 ล้านบาท เพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา นายทาโระ อาโสะ รัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลังแห่งญี่ปุ่น ระบุในระหว่างการประชุมกับธนาคารการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank หรือ เอดีบี) ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นยินดีให้การสนับสนุนงบประมาณพัฒนาระบบสุขภาพแก่ประเทศกำลังพัฒนา

โดยงบประมาณก้อนนี้จะให้ผ่านโครงการ Japan Fund for Prosperous and Resilient Asia and the Pacific ภายใต้เอดีบี ซึ่งมีนโยบายช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด 19 ในหลายด้าน รวมทั้งด้านสุขภาพ งานโครงสร้างพื้นฐาน และการลดความยากจน

“การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพให้กับประเทศต่างๆ ทำให้สามารถรับมือกับโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายอาโสะกล่าว  

ญี่ปุ่นทำนโยบายการฑูตด้านสาธารณสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องหลายปี โดยอาศัยความรู้และบทเรียนที่ตนสะสมจากจากการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามานานหลายทศวรรษ

ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2504 ขณะที่ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศยากจน และอยู่ในช่วงเร่งพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อไล่ตามประเทศตะวันตก  

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศแรกๆของภูมิภาคเอเชียที่เผชิญกับสังคมผู้สูงอายุก่อนประเทศอื่น จึงมีองค์ความรู้ด้านการปรับระบบสุขภาพเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความท้าทายร่วมของประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งไทย

ความสำเร็จนี้ เป็นที่ของความทะเยอทะยานของญี่ปุ่นในการตั้งตัวเป็นผู้นำด้านนโยบายด้านสาธารณสุขโลก

ทันทีที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme หรือ UNDP) เผยแพร่แนวคิดและหลักการ “ความมั่นคงแห่งมนุษย์” ในปี 2537 ซึ่งนับรวมการมีสุขภาพดี ให้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สร้างความมั่นคงให้กับประชากรโลก 

รัฐบาลญี่ปุ่นก็รีบผนวกประเด็นด้านสุขภาพ เข้ามาเป็นหนึ่งในเสาหลักของนโยบายทางการฑูตตั้งแต่นั้นมา จนพัฒนามาเป็นยุทธศาสตร์ “พลวัตรสุขภาพโลก” เน้นการทำให้ประชากรโลกทุกคนมีสุขภาพดี และเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ดูจะให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์นี้มาก โดยประกาศอัดฉีดงบประมาณมากกว่า 15,000 ล้านบาทในปี 2557 เพื่อยกระดับระบบสุขภาพ และสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประเทศในทวีปแอฟริกา

ทั้งยังส่งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ไปช่วยเจ้าหน้าที่รัฐจัดการการการระบาดของโรคอีโบล่าในขณะนั้น

นอกจากนี้ ยังนำนโยบายพลวัตรสุขภาพโลก เข้าสู่วาระการประชุมผู้นำ G7 ซึ่งประกอบด้วย 7 ประเทศพัฒนาอย่างญี่ปุ่น แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เพื่อจูงใจให้ประเทศพัฒนาให้ความช่วยเหลือด้านนโยบายสุขภาพแก่นานาชาติ  

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบัน นำโดยนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ ก็ประกาศชัดเจนว่าจะแจกจ่ายวัคซีนโควิดให้ประเทศกำลังพัฒนาฟรี หากญี่ปุ่นสามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ

ไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจในงานนโยบายการฑูตด้านสุขภาพ

ในปลายปี 2563 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) หรือ ไจก้า และประเทศไทยได้ขยายความร่วมมือพัฒนาด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระยะที่ 2 ต่ออายุการทำงานร่วมกันมานานกว่า 4 ปี

การขยายระยะเวลาความร่วมมือเกิดขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นำองค์ความรู้นั้นไปช่วยพัฒนาศักยภาพด้านระบบสุขภาพของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยและญี่ปุ่นสู่นานาชาติ

อ้างอิง
https://www.reuters.com/article/adb-meeting-japan-idUSL1N2MS04E
https://isdp.eu/covid-19-japans-global-health-strategy/
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6269922/
https://www.nhso.go.th/news/3038