ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โลกเราอยู่กับโควิดมาเกินกว่า 1 ปี และมีทีท่าว่าจะต้องอยู่ร่วมกันไปอีกพักใหญ่ หลายคนเริ่มวางแผนถึงการใช้ชีวิตในโลกยุคหลังโควิดและเริ่มปรับตัวกันไปบ้างแล้ว ขณะเดียวกันในภาพของระดับโลกก็เริ่มพูดถึงคัมภีร์ที่ควรนำไปใช้พัฒนาประเทศหลังการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้อย่างมีสุขภาพดีด้วยเช่นกัน

องค์การอนามัยโลก (WHO) พี่ใหญ่ของวงการด้านสุขภาพของโลก ที่มองการฟื้นฟูโลกไปไกลกว่าด้านสุขภาพ ได้คลอดแถลงการณ์การฟื้นฟูโลกหลังโควิด-19 อย่างมีสุขภาพดีและยั่งยืน โดยเน้นที่ 6 ประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศควรใช้เป็น “คัมภีร์” เพื่อซ่อมแซมประเทศอย่างยั่งยืน และ 6 ประเด็นสำคัญนั้นก็คือ

1. โลกควรรักษาธรรมชาติที่เป็นต้นทุนสุขภาพของมนุษย์ : ควรมุ่งดูแลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทางไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ป่า สัตว์ป่า ซึ่งถ้าหากสิ่งเหล่านี้เสื่อมโทรมก็จะกลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรค โดยปัจจุบันกว่า 60% ของโรคระบาดทั่วโลกมีสัตว์ป่าเป็นพาหะ และต้องทบทวนกิจกรรมของมนุษย์ที่รบกวนธรรมชาติ อันจะเป็นการรักษาธรรมชาติที่เป็นต้นทุนสุขภาพของมนุษย์ตั้งแต่ต้นทาง

2. โลกควรลงทุนเรื่องบริการที่จำเป็น ตั้งแต่น้ำ สุขาภิบาล ไปจนถึงพลังงานสะอาดในสถานบริการสาธารณสุข : ปัจจุบันผู้คนนับล้านคนทั่วโลกยังเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อป้องกันสุขภาพ เช่น กว่า 40% ของครอบครัวทั่วโลกยังขาดอ่างล้างมือที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ หรือ 1 ใน 4 ของคนทั่วโลกเสียชีวิตจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น มลพิษทางอากาศ และโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ

3. โลกควรควรเร่งเปลี่ยนแปลงพลังงานที่ดีและรวดเร็ว : ปัจจุบันกว่า 90% ของคนทั่วโลกที่อยู่กลางแจ้งหายใจด้วยอากาศปนเปื้อนมลพิษ และเกินกว่ามาตรฐานของ WHO ในขณะที่เชื้อเพลิงสำหรับพลังงานสะอาดมีแนวโน้มที่จะถูกลง และการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดไม่เพียงแต่จะทำให้โลกบรรลุข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่ต้องการลดอุณห

ภูมิโลกอย่างน้อย 2 องศา ยังทำให้คนทั่วโลกมีสุขภาพดีขึ้นด้วย เพราะการลงทุนด้านสุขภาพย่อมให้ผลลัพธ์คูณสองเสมอ

4. โลกควรสนับสนุนระบบอาหารที่ดีและยั่งยืน : ปัจจุบันคนทั่วโลกเจ็บป่วยโดยมีสาเหตุหลักมาจากการขาดอาหาร การรับประทานอาหารขยะ อาหารที่มีแคลอรี่สูง หรืออาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และ 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกเกิดการทำการปศุสัตว์ และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคระบาด

5. โลกควรสร้างเมืองสุขภาพดีและน่าอยู่ : กว่าครึ่งของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และกลุ่มคนเหล่านี้คือฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย และสิ่งที่ตามมากับเมืองใหญ่คือปัญหาจราจรและความหนาแน่น ทั้งนี้ในช่วงโควิด หลายเมืองใหญ่ในโลก เช่น ปารีส มิลาน ลอนดอน ก็มีการขยายเลนส์จักรยานเพื่อช่วยเรื่องการเดินทางที่เว้นระยะห่างทางสังคม และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาวด้วย

6. โลกควรหยุดใช้ภาษีที่ก่อมลพิษ : ในภาพรวมระดับโลก เราใช้เงินกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐไปกับพลังงานฟอสซิล และทิศทางการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจหลังวิกฤตนี้ ดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยพลังงานฟอสซิลที่ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศ ดังนั้นเราไม่ควรที่จะสร้างเศรษฐกิจบนความสูญเสียทางสุขภาพ

เห็นได้ชัดว่า “คัมภีร์ฟื้นฟูโลก” ของ WHO ไปไกลเกินกว่าเรื่องสุขภาพ และยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักกจากการแพร่ระบาดของโควิด เช่น อิตาลี สเปน นิวซีแลน เกาหลีใต้ ก็นำเรื่องการพัฒนาสีเขียว ที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19

สอดคล้องกับความเห็นของประชากรโลกส่วนใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากผลสำรวจออนไลน์ระดับโลกต่อความเห็นของประชาชน จัดทำโดยบริษัทด้านการวิจัยทางการตลาดและความเห็นของสังคมระหว่างประเทศ หรือ Ipsos ระบุว่า 2 ใน 3 ของพลเมืองโลก ต้องการให้เรื่องการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในประเด็นฟื้นฟูเศรษกิจโลกในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และพวกเขายังเห็นว่าปัญหาโลกร้อนสำคัญและเข้าขั้นวิกฤตไม่แพ้กับโควิด-19 อีกด้วย

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร “สานพลัง” ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประจำเดือน พ.ค. 2564

ติดตามนิตยสารสานพลังได้ที่ : https://www.nationalhealth.or.th/.../e_book/no105/index.html