ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัยทางการแพทย์ในสเปน พบการให้วัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ร่วมกับวัคซีน “ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค” มีแนวโน้มสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพียงยี่ห้อเดียว


สถาบันวิจัยด้านสุขภาพ Instituto de Salud Carlos III (ISCIII) ในมาดริด ประเทศสเปน ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ถึงผลการทดลองให้วัคซีน 2 ยี่ห้อร่วมกันแก่ผู้เข้าร่วมการทดลอง ซึ่งพบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีเกินคาด

การทดลองดังกล่าวเริ่มต้นในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อโครงการ Spanish CombivacS โดยมีผู้เข้าร่วมทดลองรวม 663 คน ทั้งหมดได้รับวัคซีนโดสแรกเป็น “แอสตร้าเซนเนก้า” ซึ่งผลิตจากไวรัสไข้หวัดทั่วไป หรือ อะดีโนไวรัส (Adenovirus) 

หลังจากนั้น 8 สัปดาห์ จึงสุ่มเลือกผู้เข้าร่วมการทดลองมา 2 ใน 3 เพื่อให้วัคซีน “ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค” ซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยี mRNA 

"การทดลองแสดงผลว่าวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค มีการตอบสนองและหนุนเสริมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในทางที่ดี" Zhou Xing นักวิทยาภูมิคุ้มกันวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ (McMaster University) ในประเทศแคนาดา ระบุ

"คนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคในโดสที่สอง มีแนวโน้มสร้างแอนติบอดีมากกว่าคนที่รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้งสองโดส แต่การทดลองนี้ ยังไม่ได้เทียบการสร้างแอนติบอดี้กับคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคทั้งสองโดส" Zhou Xing อธิบาย

สำหรับเทคนิคการให้วัคซีนผสม ในอดีตเคยทำมาแล้วในการป้องกันเชื้ออีโบลา และพบว่าให้ประสิทธิภาพค่อนข้างดีในการสร้างภูมิคุ้มกัน 

Daniel Altmann นักวิทยาภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลลีก ลอนดอน (Imperial College London) กล่าวว่าการให้วัคซีนร่วมสองยี่ห้อน่าจะเป็นผลดี โดยเฉพาะในสภาวะที่วัคซีนโควิดยังคงขาดแคลนในหลายประเทศทั่วโลก

เขาตั้งคำถามถึงงานวิจัยในอนาคตว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องให้วัคซีนโดสที่สาม เพื่อขยายเวลาสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ และป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้น

“การให้วัคซีนที่มาจากเทคโนโลยีการผลิตจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วไป เช่น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซ้ำในโดสที่สาม อาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่าวัคซีนที่ผลิตจากเทคโนโลยี mRNA เพราะในระยะยาว ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอาจต่อต้านเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วไปที่ฉีดเข้ามาในร่างกาย” Daniel Altmann กล่าว

ในประเทศอังกฤษ ก็มีการทดลองหาประสิทธิภาพการใช้วัคซีนร่วม โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกำลังดำเนินโครงการ Com-COV เบื้องต้นพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่ได้รับวัคซีนร่วม มีผลข้างเคียงในอัตราที่สูงกว่าคนที่ได้รับวัคซีนยี่ห้อเดียว ผลข้างเคียงหลักๆ ที่พบคืออาการไข้  

อย่างไรก็ดี การศึกษาการให้วัคซีนร่วมในสเปนนั้น พบว่าผู้เข้าร่วมทดลองมีผลข้างเคียงเล็กน้อย ไม่ต่างจากคนที่ได้รับวัคซีนยี่ห้อเดียว 

อ้างอิง : https://www.nature.com/articles/d41586-021-01359-3?utm_source=twt_nat&utm_medium=social&utm_campaign=nature