ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ดูแล-ผู้ป่วยไตวายสิทธิบัตรทอง ดีใจได้เครื่อง APD ล้างไตอัตโนมัติใช้ที่บ้าน ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย-คุณภาพชีวิตดีขึ้น แพทย์โรคไต เสนออยากให้มีครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาพยาบาล


น.ส.สมควร สีมูล ครูเอกชนอายุ 29 ปี เปิดเผยว่า รู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่ได้รับเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) จากการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เพื่อใช้ดูแลมารดาที่เป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งต้องบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตผ่านทางช่องท้อง (CAPD) มาเป็นเวลากว่า 3 ปี ทำให้การดำรงชีวิตในปัจจุบันมีความสะดวกสบายมากขึ้น

น.ส.สมควร กล่าวว่า การใช้เครื่อง APD มีความสะดวกมากกว่าการล้างไตทางช่องท้อง สามารถใช้งานง่ายเพียงสตาร์ทเครื่องในช่วงเย็น ช่วยลดความกังวลในขณะไปทำงานประจำ เนื่องจากตนอยู่กับมารดาเพียงลำพัง รวมทั้งยังทำให้มารดามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รับประทานอาหารได้มากขึ้น สามารถกินยาได้ครบถ้วนตามแพทย์สั่ง

"ขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก พอเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้งว่าเราได้เครื่องก็เตรียมตัวไปรับ โดยพยาบาลจะสอนการใช้เครื่องที่ถูกต้อง และจะคอยให้คำปรึกษาตลอด จากนั้นเราก็นำเครื่องกลับมาทำเองที่บ้าน โดยขั้นตอนต่างๆ ทำตามที่โปรแกรมในเครื่องบอก ซึ่งเครื่องมีระบบการทำงานที่ดี ลดความผิดพลาดของกระบวนการทำงาน หากมีขั้นตอนใดไม่ถูกต้อง เครื่องจะเตือนให้ทราบทันที" น.ส.สมควร กล่าว

ด้าน รศ.พญ.สิริภา ช้างศิริกุลชัย อายุรแพทย์โรคไต หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ นครนายก ในฐานะประธานคณะกรรมการไตเขต 4 สระบุรี กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง มีแนวทางการพิจารณาคัดเลือกผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่จะได้รับเครื่อง APD ด้วย 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยทางการแพทย์ และปัจจัยทางสังคม

สำหรับปัจจัยทางการแพทย์ จะดูความพร้อมของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยมีภาวะน้ำท่วมปอดบ่อย มีโรคร่วม หรือส่งผลต่อภาวะทางโภชนาการ ส่วนปัจจัยทางสังคม จะดูผลกระทบของญาติที่ดูแลเป็นสำคัญ โดยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับเครื่อง APD จะสะดวก เนื่องจากเป็นการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งจะทำงานในเวลากลางคืนขณะที่ผู้ป่วยนอนหลับ

"เช่นรายนี้ที่อยู่กับบุตรสาวเพียงลำพัง 2 คน โดยบุตรสาวเป็นหัวหน้าครอบครัวและต้องออกไปทำงานเป็นครูเอกชน เมื่อได้รับเครื่อง APD จึงทำให้บุตรสาวมีเวลาเต็มที่กับการทำงานในหน้าที่ ไม่ต้องคอยเดินทางกลับบ้านในระหว่างวัน เลิกจากงานประจำสามารถกลับมาดูแลมารดาได้อย่างสบายใจ กลางคืนได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล" รศ.พญ.สิริภา กล่าว

รศ.พญ.สิริภา กล่าวว่า โดยเฉพาะในยุคสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีล้างไตทางช่องทางนั้นมีความสำคัญมาก เพราะจะลดการแพร่กระจายเชื้อได้เนื่องจากทำเองที่บ้าน ไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) ที่เสี่ยงเกิดการแพร่กระจาย และยังเป็นวิธีการที่ใช้ทรัพยากรค่อนข้างมากหากเกิดการติดเชื้อโควิด เพราะผู้ให้บริการจะต้องใส่ชุดลักษณะชุดอาวกาศเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

"แนะนำว่าผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย หากได้รับเครื่อง APD ดูแลที่บ้านได้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยสะดวกและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ และสิทธิบัตรทองได้รับบริการนี้ ส่วนผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมยังไม่ได้รับบริการนี้ เพราะสิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุม จึงอยากให้ภาครัฐเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกลุ่มผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมด้วย" รศ.พญ.สิริภา กล่าว