ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา บรรณาธิการวารสารเดอะแลนซิต (The Lancet) ซึ่งเป็นวารสารการแพทย์ชื่อดังระดับโลก ได้เผยแพร่บทความวิพากษ์วิจารณ์ระบบสุขภาพในอังกฤษ ซึ่งไม่สามารถรับมือโรคระบาดโควิด 19 ได้ แม้ว่าจะมีโครงการหลักประกันสุขภาพมานานหลายทศวรรษก็ตาม

บทบรรณาธิการระบุว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของอังกฤษ ที่เรียกกันว่า National Health Service หรือ NHS แม้ประสบความสำเร็จจากภาพจำที่ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ก็มีปัญหาภายในที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน 

ขณะที่อังกฤษมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพค่อนข้างตรึงตัวมานานหลายปี อยู่ที่อัตราส่วน 1% ของจีดีพี ถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่พอๆ กับอังกฤษ

NHS ยังคงเน้นบริการด้านการรักษาโรคที่ปลายทาง ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านบริการสุขภาพของประชากรในปัจจุบัน ที่ต้องการบริการด้านส่งเสริมและป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปัญหาด้านสุขภาพจิต 

ปัญหานี้บั่นทอนความสามารถของประเทศในการรับมือกับวิกฤติตั้งแต่ก่อนเกิดโรคโควิด-19  

ทั้งยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และการแบ่งเเยกทางเชื้อชาติ ที่ทำให้คนที่ถูกกีดกันด้านเชื้อชาติและสถานะทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ กลุ่มคนผิวดำ ชาวปากีสถาน และชาวบังคลาเทศอพยพ มีผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีไม่เทียบเท่ากับคนที่อยู่ชั้นบนของสังคม 

บทบรรณาธิการอ้างอิงข้อค้นพบของกลุ่มนักวิจัยด้านนโยบาย นำโดย Arush Lal ซึ่งเผยแพร่บทความกับวารสารเดอะแลนซิตก่อนหน้านี้ และวิเคราะห์ปัญหาด้านการบูรณาการเชิงนโยบายในระบบสุขภาพอังกฤษ

อังกฤษมีนโยบายด้านสุขภาพสำคัญใน 2 เสาหลัก คือ นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ UHC (Universal Healthcare Coverage) และ นโยบายความมั่นคงทางสุขภาพโลก หรือ GHC (Global Health Security) 

UHC เน้นสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ มีคุณภาพให้ทันเวลาและทั่วถึง โดยลดภาระด้านค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วย และให้ความสำคัญกับระบบบริการปฐมภูมิ แต่ละเลยภัยคุกคามจากโรคติดต่อข้ามพรมแดน และการเพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุข เพราะมัวแต่เน้นเรื่องการประกันสุขภาพให้ปัจเจกบุคคล

GHS เน้นการป้องกันและตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะภัยคุกคามจากโรคติดต่อ มีนโยบายเน้นการสอบสวนโรค การสื่อสารความเสี่ยง และการประสานงานระหว่างหน่วยงานด้านโรคติดต่อ แต่ละเลยการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ การบริการจัดการผู้ป่วยและระบบสาธารณสุขในภาพรวม 

อังกฤษไม่ได้บูรณาการสองนโยบายสองเสาหลักนี้เข้าด้วยกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละนโยบายแยกกันทำงาน เมื่อเกิดโรคระบาดข้ามพรมแดนอย่างโรคโควิด-19 จึงมีปัญหาการประสานงานระหว่างผู้นำองค์กรต่างๆ 

หน่วยงานที่ทำนโยบาย GHS เน้นเพียงการยับยั้งโรคระบาดในกลุ่มประชากรติดเชื้อ ส่วน UHC เน้นเพียงการรักษาผู้ติดเชื้อที่ปลายทาง จึงมีช่องว่างตรงกลาง คือ การป้องกันโรคให้กับคนทั่วไป เมื่อไม่ได้เน้นเรื่องการป้องกัน โรคระบาดจึงแพร่กระจายลุกลามเป็นวงกว้าง   

"ความมั่นใจต่อระบบสุขภาพมากเกินไป" คือ ข้อสรุปของสาเหตุที่ทำให้ระบบสุขภาพของอังกฤษสั่นสะเทือนในช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา 

อังกฤษได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศ จากการเป็นผู้นำสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จตั้งแต่ปี 2491 ความมั่นใจที่สะสมมานานหลายปี ทำให้อังกฤษหละหลวม ขาดการสำรวจช่องว่าง และขีดความสามารถในระบบสุขภาพของตนเอง 

จนกระทั่งสถานการณ์ปะทุ ผ่านการประท้วงของบุคลากรด้านสาธารสุขในประเด็นค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอ การขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการลงทุนด้านโครงสร้างสาธารณสุขที่หยุดชะงักมานานหลายปี ทั้งยังมีรายงานข่าวคนจนและกลุ่มคนต่างเชื้อชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพในช่วงโรคระบาด

บทบรรณาธิการนี้เสนอให้มีการปรับทัศนะด้านหลักประกันสุขภาพในอังกฤษ จากที่เอาแต่สนใจเพียงการควบคุมงบประมาณ เพื่อประคับประคองให้บริการสุขภาพเดินหน้า ให้หันมาสนใจการสร้างการการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

โดยนำความรู้ และบริบททางการเมืองและสังคม เข้ามาร่วมพิจารณาในการออกแบบระบบสุขภาพ มากกว่าที่จะพึ่งพาแต่ศาสตร์ความรู้ทางการแพทย์อย่างที่ผ่านมา

แม้ในตอนนี้ อังกฤษจะได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติอีกครั้ง ในกรณีที่สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่น 

แค่คำชื่นชมนี้เป็น "ดาบสองคม" เพราะมันปิดบังความจริงที่ว่า อังกฤษจำเป็นต้องมีการปฏิรูปด้านสุขภาพ และนโยบายของรัฐจำเป็นต้องคำนึงถึงความเท่าเทียม และความเป็นธรรมในระบบสุขภาพให้มากกว่าเดิม

อ้างอิง :
https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)01056-4/fulltext
https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(20)32228-5/fulltext