ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ” เห็นชอบแนวทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมสำคัญเพื่อตัดวงจรโควิดระบาดในชุมชนทั่วประเทศ ไฟเขียวจัดตั้ง “ศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ” ขึ้นในชุมชนแออัด กทม.-ปริมณฑล และเมืองใหญ่


ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธาน คสช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบ “แนวทางตัดวงจรโควิดระบาดในชุมชน” ด้วยการขยายการจัดตั้ง “ศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ” ออกไปยังชุมชนแออัดทุกพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปริมณฑล และทั่วประเทศ

สำหรับศูนย์พักคอยฯ จะเป็นสถานที่พักพิงรอการส่งตัวเข้ารักษา และพักฟื้นรับการส่งตัวกลับจากโรงพยาบาล รวมทั้งฟื้นฟู สนับสนุนด้านเศรษฐกิจ สังคมให้ผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชน และใช้เป็นศูนย์บริหารจัดการของชุมชนเพื่อหนุนช่วยการฉีดวัคซีนโควิดที่กำลังจะให้บริการครั้งใหญ่ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ศูนย์พักคอยฯ ถือเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานในระดับพื้นที่ของชุมชน ภายใต้แผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้โควิด-19 ระลอกสาม” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคประชาสังคม และภาคียุทธศาสตร์สำคัญ อาทิ กทม. กรมควบคุมโรค สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะสงฆ์ในพื้นที่ ตลอดจนภาคเอกชน ฯลฯ ดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2564 นี้

ศูนย์พักคอยฯ ดังกล่าวจะตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน บริหารจัดการโดยคณะกรรมการของชุมชน ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ซึ่งถูกแยกตัวออกมาจากครัวเรือน และนอกจากจะเป็นการตัดวงจรระบาดยุติการแพร่เชื้อต่อในชุมชนแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลเบื้องต้นที่ถูกวิธี และง่ายต่อการประสานงานเพื่อส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาตามระบบที่รัฐบาลวางไว้ โดยนำร่องแห่งแรกที่วัดสะพานในชุมชนแออัดคลองเตย ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา

นายสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุด มีชุมชนแออัดกระจายอยู่หลายแห่ง ชุมชนคลองเตยเป็นที่รวมของคนกว่าหนึ่งแสนคนที่แต่ละวันต้องกระจายทำงานไปหลายพื้นที่ และแต่ละครอบครัวก็อยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น เมื่อมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงมีโอกาสกระจายเชื้อได้อย่างกว้างขวางและระบาดรวดเร็ว การเกิดขึ้นของศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจตั้งขึ้นแห่งแรกในชุมชนคลองเตย จึงถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีส่วนสำคัญในการหนุนเสริมการทำงานของรัฐบาลเป็นอย่างมาก ช่วยให้วงจรการระบาดถูกตัดทอนลงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

“ศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจคลองเตย นับเป็นต้นแบบสำคัญของการลุกขึ้นมาจัดการกันเองของชุมชนและประชาชน สะท้อนให้เห็นถึงพลังของกระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งโมเดลการทำงานของคลองเตย จะถูกนำไปขยายผลและประยุกต์ใช้กับชุมชนอื่นๆ ได้ทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นจะเริ่มในชุมชนแออัด กรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน” นายสาธิต กล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ  เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ คือการสร้างระบบดูแลกันเองของประชาชนในระดับชุมชนที่เชื่อมต่อกับระบบใหญ่ของรัฐ ลดความตื่นตระหนกของประชาชน ลดภาระของระบบบริการหลัก ที่สำคัญคือเป็นการเตรียมความพร้อมด้านอาสาสมัครในชุมชน เกิดระบบบริหารจัดการและระบบสนับสนุนอื่นๆ ของประชาชน ซึ่งทั้งหมดจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ในระยะยาว

“หลังจากนี้ สช.จะสรุปข้อเรียนรู้ของคลองเตยโมเดลและเร่งจัดทำคู่มือบทบาทของชุมชนในการตัดวงจรการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการใช้ศูนย์พักคอยฯ เป็นเครื่องมือ พร้อมกับการระดมจัดระบบสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและสังคมให้คนในชุมชน รวมถึงให้ชุมชนมีบทบาทช่วยบริหารจัดการและรณรงค์หนุนช่วยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแต่ละพื้นที่ในระยะต่อไปด้วย” เลขาธิการ คสช. กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้รับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติการจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา และการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 ประจำปี 2564 ที่กำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 25 พ.ย. นี้ รวมทั้งรับทราบผลการประเมินเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ว่าส่วนใหญ่บรรลุตามวัตถุประสงค์ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงความคืบหน้าในการสรรหา กขป.ชุดใหม่ โดยจะปิดรับสมัครในวันที่ 31 พ.ค.นี้ และสรรหาให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้