ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น นำไปสู่การระดมสรรพกำลังจากทั่วทุกสารทิศออกมาสู้ศึก โดยเฉพาะเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความพอเพียงในการรองรับผู้ป่วยโควิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเตียงรับผู้ป่วย โรงพยาบาลสนาม หรือตลอดจน Hospitel จึงกลายเป็นวิกฤติที่สร้างความท้าทายในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย

ภายใต้สถานการณ์อันขมึงเกลียวที่เกิดขึ้น ท่ามกลางความชุลมุนของการบริหารจัดการ พบว่ายังมีความงดงามของน้ำใจคนไทยให้เห็น โดยเฉพาะการ “ยื่นมือ” ออกมาช่วยกันของทุกภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือ ความมุ่งมั่นตั้งใจในการจัดตั้ง “โรงพยาบาลสนาม” ของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

“The Coverage” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ผู้บริหารองค์กรที่ได้รับกล่าวขวัญถึงในฐานะผู้ที่สามารถ Setup ระบบบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามแห่งแรกที่อยู่ภายใต้ปีกของ “กรมการแพทย์” ได้อย่างสมภาคภูมิ

--- รพ.สนามแห่งแรกภายใต้ปีก ‘กรมการแพทย์’ ---

สบยช. นั้นเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีบทบาทหน้าที่หลักคือการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติด แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้กรมการแพทย์มอบหมายให้ สบยช. จัดตั้ง “หอผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนขยาย 6+1 กรมการแพทย์ สบยช.” ขึ้นมา

นพ.สรายุทธ์ อธิบายว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข มีนโยบายชัดเจนว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ทุกรายจะต้องได้รับการรักษาในระบบบริการสุขภาพที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความเหมาะสม ได้มาตรฐาน และปลอดภัยตามระดับอาการของผู้ป่วย

โดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีการแบ่งระดับอาการของผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ไม่มีอาการหอบเหนื่อยหรือหายใจเร็ว และไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมสำคัญ 2) ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง เป็นผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อยหอบ และมีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมสำคัญ เช่น โรคอ้วน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เป็นต้น 3) ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง เป็นผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก มีภาวะปอดอักเสบ หรือมีภาวะการหายใจล้มเหลว ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) เมื่อพบภาวะปอดอักเสบ หรือค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าร้อยละ 96

อย่างไรก็ดี สำหรับ “หอผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนขยาย 6+1 กรมการแพทย์ สบยช.” มีเงื่อนไขที่แตกต่างไปจากโรงพยาบาลสนามทั่วไป กล่าวคือ เป็นหอผู้ป่วยที่จัดตั้งเสมือนเป็นโรงพยาบาลทั่วไปโดยเน้นการดูแลรักษาใน “กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง” เป็นหลัก ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความดูแลที่ใกล้ชิด มีการให้ยาและหัตถการทางการแพทย์มากกว่ากลุ่มสีเขียว

“ณ สถานที่แห่งนับเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกของกรมการแพทย์ที่มีลักษณะเป็นหอผู้ป่วยที่ดูแลเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีความพร้อมมากกว่าโรงพยาบาลสนามทั่วไปที่จะรับเพียงแค่ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวเท่านั้น แต่ด้วย สบยช. มีแนวคิดในการทำงานที่ว่า “ทุกลมหายใจที่ได้คืนมา มีค่ามากกว่าคำชื่นชม” จึงพัฒนาความสามารถของทีมแพทย์ - พยาบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้สามารถรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองมาดูแลด้วยความตั้งใจ จึงเรียก รพ.สนามแห่งนี้ว่า “หอผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนขยาย 6+1”  นพ.สรายุทธ์ อธิบาย

--- ขยายศักยภาพ รองรับ 230 เตียง ---

นพ.สรายุทธ์ เผยว่า ปัจจุบัน สบยช. ยังคงเปิดให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดตามบทบาทหลัก แต่จำเป็นต้องจัดสรรบุคลากรส่วนหนึ่งออกมารองรับในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย ซึ่งปัจจุบัน สบยช. มีหอผู้ป่วยที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะเรียกว่า “หอผู้ป่วยโควิด” (Cohort ward) สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวน 30 เตียง และส่วนที่สองเรียกว่า “หอผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนขยาย 6+1” สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวน 200 เตียง รวมเป็น 230 เตียง

“ทั้งนี้ สบยช. สามารถรับผู้ป่วยทั้งกลุ่มสีเขียว และสีเหลือง แต่จะเน้นไปที่คนไข้กลุ่มสีเหลืองเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือกลุ่มสีแดง ให้โรงพยาบาลนั้นๆ มีเตียงว่างเพียงพอในการช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้” นพ.สรายุทธ์ อธิบาย

นพ.สรายุทธ์ เปิดเผยต่อว่า ในเรื่องของการรับผู้ป่วยนั้น ภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีกลไกในการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกจากทางภาครัฐ ซึ่งมีหลากหลายหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของการรวบรวม – รายงานจำนวนผู้ป่วยจากสายด่วนของภาครัฐ เช่น 1668, 1669, 1330 และ 1422  เป็นต้น รวมไปถึงผู้ป่วยเองก็ติดต่อผ่านสายด่วนต่างๆ ด้วย

อย่างไรก็ดี กระบวนการทำงานของ สบยช. จะมีทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุขประเมินอาการผู้ป่วยเบื้องต้นเพื่อจำแนกอาการผู้ป่วยตามระดับสีที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หากผู้ป่วยมีอาการที่ สบยช. รับรักษาได้ ทีมจะประสานรถเพื่อไปรับผู้ป่วยเข้ามารักษาที่สถาบันฯ หากผู้ป่วยต้องการขับรถเข้ามารับการรักษาเอง ทีมแพทย์ พยาบาล จะเป็นผู้ให้ข้อมูลผู้ป่วยที่ขับรถมาเองว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ

ทั้งนี้เมื่อผู้ป่วยถูกนำตัวมาถึงสถาบันฯ จะต้องมีการคัดกรองที่หน้างานซ้ำ โดยมีการซักประวัติอย่างละเอียด ตรวจร่างกาย ตรวจวัดอุณหภูมิ วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ที่สำคัญคือ การวัดค่าออกซิเจนจากปลายนิ้ว เพื่อประเมินภาวะขาดออกซิเจน รวมถึงมีการเอกซเรย์ปอดทุกราย โดยทีมแพทย์และพยาบาลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยในส่วนนี้มีรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ประจำ ณ จุดคัดกรอง เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ผู้ป่วยยังอยู่ในกลุ่มอาการสีเหลืองและไม่มีภาวะปอดอักเสบ หรือภาวะการหายใจล้มเหลวร่วมด้วย เพราะอาการของผู้ป่วยเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เนื่องจากโรคติดเชื้อโควิด-19 มีการดำเนินโรคที่รวดเร็ว หากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นกลุ่มอาการสีแดงจำเป็นต้องส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย นพ.สรายุทธ์ ระบุ

--- ติดอาวุธบุคลากร-สานพลังเครือข่าย ---

นพ.สรายุทธ์ กล่าวว่า บุคลากรที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 นั้นจะถูกแยกออกจากบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยที่บำบัดรักษาเกี่ยวกับยาเสพติด ด้วยเหตุผลที่ว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อและสามารถติดต่อได้ผ่านทางเดินหายใจ ฉะนั้นมีการแยกสัดส่วนการรักษากันอย่างชัดเจน โดย สบยช. มีการเพิ่มศักยภาพ ทักษะและ องค์ความรู้ให้กับบุคลากรเพื่อเป็นการติดอาวุธทางปัญญาและสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากร

ทั้งนี้ จะมีทีมพี่เลี้ยงจากกรมการแพทย์เข้ามาช่วยเหลือ ดูแลตั้งแต่ การจัดระบบก่อนเปิดให้บริการ โดยมี พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก อาจกล่าวได้ว่าทั้งสองท่าน “เป็นทั้งพี่เลี้ยงและผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการในการเปิดดำเนินงานหอผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนขยาย” ในครั้งนี้

นอกจากนี้ ทาง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์เองก็มีนโยบายที่ชัดเจนว่า จะต้องมีการช่วยเหลือกันระหว่างบุคลากรที่อยู่ในกรมฯ แม้จะต่างโรงพยาบาลก็ตาม

อนึ่ง สบยช. ซึ่งมีฐานะเป็นสถาบันแม่ของกลุ่มโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคที่ดูแลเรื่องการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ใช้ยาและสารเสพติด ซึ่งมีเครือข่ายอีก 6 แห่งทั่วประเทศ โดยทุกแห่งให้ความร่วมมือในการส่งบุคลากรเข้ามาสนับสนุนภารกิจนี้ด้วยความเต็มใจ

นอกเหนือจากนี้ยังมีบุคลากรจากโรงพยาบาลสังกัดของกรมการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี หรือโรงพยาบาลอื่นๆ รวมไปถึงโรงพยาบาลใหญ่ต่างๆ ก็ส่งบุคลากรทางการพยาบาลมาช่วยในภารกิจนี้ด้วยเช่นกัน

--- มุ่งมั่นให้การรักษา-ส่งผู้ป่วยกลับบ้านด้วยรอยยิ้ม ---

นพ.สรายุทธ์ เล่าต่อไปว่า ทีมประสานของ สบยช. มีการแจ้งให้ผู้ป่วยนำของใช้ส่วนตัวมาด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันฯ ก็มีการเตรียมชุดรับใหม่ที่เป็นของใช้ส่วนตัวให้กับผู้ป่วยทุกราย ซึ่งประกอบไปด้วย สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ถาดข้าว แก้วน้ำ รวมไปถึงสถาบันฯ จัดของว่าง อาทิ ชา กาแฟ นม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องทำน้ำร้อนเตรียมไว้เพื่อบริการผู้ป่วยด้วย

หลังจากผู้ป่วยอาการดีขึ้น เมื่อแพทย์อนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้าน สบยช. ได้จัดเตรียม Gift set ซึ่งประกอบด้วย หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ อุปกรณ์รักษาความสะอาด เอกสารชุดความรู้แนะนำการปฏิบัติตัว และถุงผ้ารักษ์โลก มอบให้ผู้ป่วยกลับบ้านด้วย ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่าโรงพยาบาลสนามแห่งอื่นไม่มี Gift set ให้ผู้ป่วยเมื่อจำหน่ายกลับบ้าน

จากความมุ่งมั่นในการรักษาผู้ป่วย นอกจากความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความใส่ใจของแพทย์พยาบาลแล้ว อุปกรณ์ของใช้ที่จำเป็นนับเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณภาพการรักษา แม้ สบยช. จะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์มากกว่าโรงพยาบาลสนามทั่วไป แต่ในสภาพความเป็นจริง เมื่อ สบยช. มีการรับผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น  ผู้ป่วยบางส่วนเริ่มมีอาการหนักขึ้น เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการเหนื่อยจึงจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนเพื่อช่วยบรรเทาอาการ

ทั้งนี้ สบยช.จัดให้มีการสำรองเครื่องผลิตออกซิเจนไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วย แม้จะมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่องผลิตออกซิเจน แต่ด้วยภาวการณ์เช่นนี้ทำให้เครื่องผลิตออกซิเจนขาดตลาด ซึ่งส่งผลกระทบในการดูแลผู้ป่วยบ้าง ปัญหาอุปสรรคในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังคงมีประปราย อาทิ ความล่าช้าในการรับ - ส่งผู้ป่วย สบยช. ได้แก้ปัญหาไปได้ระดับหนึ่งแล้ว โดยการใช้รถเอกชนในการรับผู้ป่วย เพราะโดยส่วนตัวต้องการให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้รวดเร็ว และมีคุณภาพที่สุด ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเป็นผู้ชดเชยให้

ด้วยการสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้เชิงวิชาการจาก “พญ.นฤมล และ นพ.มานัส รวมไปถึงทีมงานบางส่วนที่เคยดำเนินการในโรงพยาบาลสนามทั้งของกระทรวงสาธารณสุขและกรมการแพทย์ที่ส่งต่อองค์ความรู้ให้กับทีมงานของ สบยช. ทีมงานทุกคนจึงมีความมั่นใจในการปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติในครั้งนี้เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 สบยช. ได้มีการส่งผู้ป่วยกลับบ้านด้วยรอยยิ้มแล้วจำนวน 167 ราย

“การดำเนินงานทั้งหมดนี้ บุคลากรที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนขยาย 6+1 ทุกคนทำด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ โดยยึดมั่นในหลักการทำงานของอธิบดีกรมการแพทย์ที่ว่า “ทุกลมหายใจที่ได้คืนมา มีค่ามากเกินกว่าคำชื่นชม” ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคลากรทุกคนในสถาบันฯ ตระหนักและยึดถือในหลักการนี้เสมอมา” นพ.สรายุทธ์ ระบุ