ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ขยายระยะเวลายื่นคำร้อง ม.41 ขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นหากเกิดความเสียหายจากการรักษาพยาบาล จาก 1 ปีเป็น 2 ปี ทัดเทียมสิทธิประกันสังคม


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ลงนามในข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อน ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564

สำหรับสาระสำคัญของข้อบังคับฯ ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงแก้ไขให้ผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ ทายาท หรือผู้อุปการะ หรือหน่วยบริการที่ให้บริการ มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบความเสียหาย จากเดิมที่กำหนดให้ยื่นคำร้องภายใน 1 ปี

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มระยะเวลาเป็น 2 ปีนี้ เป็นการขยายระยะเวลาการยื่นคำร้องขอรับการเยียวยา กรณีได้รับความเสียจากการรักษาพยาบาล ที่ไม่ใช่เกิดจากพยาธิสภาพของโรค ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า การดำเนินการโดยคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ เพื่อให้สิทธิของผู้มีสิทธิบัตรทอง เท่าเทียมกับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ซึ่งกำหนดให้สามารถยื่นคำร้องได้ในระยะเวลา 2 ปี นับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนสุขภาพ และให้ประชาขนได้รับสิทธิการดูแลที่เท่าเทียมกัน

"การขยายระยะเวลายื่นคำร้องนี้ นับเป็นการพัฒนางานด้านคุ้มครองสิทธิผู้มีสิทธิบัตรทองอีกก้าวหนึ่ง เพราะด้วยระยะเวลาเพียง 1 ปี ทำให้มีผู้รับบริการบางส่วนที่ยื่นไม่ทันเสียสิทธินี้ไป และไม่ได้รับการเยียวยา ขณะที่ความเสียหายจากการรับบริการบางครั้งการรับรู้อาจค่อนข้างช้า รวมถึงการค้นหาสาเหตุหลายกรณีต้องใช้เวลา และมีระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน การขยายระยะเวลาเป็น 2 ปี จึงช่วยลดช่องว่างนี้" นพ.สุพรรณ กล่าว