ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชุมชนคลองเตย” คลัสเตอร์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) คือภาพสะท้อนวิบากกรรมของผู้คนในชุมชนแออัด และบอกเล่าข้อจำกัดของกลุ่มคนจนเมือง

ปัจจุบันพื้นที่คลองเตยมีผู้ติดเชื้อทะลุ 300 รายแล้ว ขณะที่อีกหลายชีวิตยังตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ทว่าในบรรยากาศขมึงเกลียว ณ สมรภูมิอันแร้นแค้นแห่งนี้แล้ว กลับพบว่า ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถ้วน

ประการหนึ่งเป็นเพราะระบบบริการของรัฐที่มีประสิทธิภาพ แต่จุดชี้ขาดที่แท้จริงอยู่ที่การ set up “ระบบการจัดการตนเองเพื่อควบคุมโรค” ขึ้นในชุมชนได้สำเร็จ

ทั้งหมดเกิดขึ้นจากฐานทุนเดิมที่เข้มแข็ง มีกระบวนการการมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือ บนแรงสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม

--- นวัตกรรม ‘คลองเตย’ ---

“ศูนย์พักคอยการส่งต่อใกล้บ้านใกล้ใจ” คือนวัตกรรมที่ชาวคลองเตยร่วมกันคิดค้นขึ้นมา ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญในการ “ตัดวงจรการระบาด” ได้อย่างชะงักงัน

ศูนย์พักคอยฯ ดังกล่าว ทำหน้าที่เป็นจุดพักพิงให้กับ “ผู้ติดเชื้อโควิด-19” ได้รับการดูแลเบื้องต้นอย่างทั่วถึง และเป็นแลนด์มาร์คสำคัญให้แก่รถพยาบาล-รถรับส่งผู้ป่วย เข้ามารับตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาล

การเกิดขึ้นของศูนย์พักคอยฯ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่ผ่านกระบวนการคิดและวางแผนอย่างเป็นระบบ บนความร่วมไม้ร่วมมือระหว่าง ชาวคลองเตย ภาครัฐ และฝ่ายวิชาการ

แต่จุดชี้ขาดที่ทำให้เกิดการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ ขึ้นมาได้นั้น เป็นเพราะแรงศรัทธาต่อศาสนา บนความเมตตาของ พระพิศาลธรรมานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดสะพาน เขตคลองเตย กทม.

เจ้าอาวาสวัดสะพาน ได้เสนอแนวคิดการใช้พื้นที่วัดเป็นโรงพยาบาลสนามมาตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกสองแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนั้นยังไม่รุนแรง จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน

ทว่า เมื่อเกิดการแพร่ระบาดระลอกสาม จึงมีการปัดฝุ่นแนวคิดของท่านเจ้าอาวาสขึ้นมาอีกครั้ง โดยในช่วงแรกมีข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการ ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามได้

ที่สุดแล้ว จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น “ศูนย์พักคอยฯ” ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กทม. และภาคีเครือข่าย ร่วมสนับสนุนชาวคลองเตยในการวางระบบ

--- ศูนย์พักคอยฯ เครื่องมือตัดวงจรระบาด ---

สำหรับศูนย์พักคอยฯ นั้น เรียกได้ว่าเป็น “พระเอก” ในช่วงเวลาคับขัน เพราะอย่างที่ทุกคนสามารถจินตนาการออก ทันทีที่มีผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัด เชื้อย่อมแพร่ระบาดด้วยความรวดเร็ว จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่

แนวทางการ “ตัดวงจรการระบาด” เพื่อยับยั้งความสูญเสีย ประการแรกที่ต้องทำคือการ “ค้นหาและเข้าถึง” ผู้ที่ติดเชื้ออย่างรวดเร็วที่สุด ถัดจากนั้นคือการ “แยกตัว” ผู้ที่ติดเชื้อออกมาจากชุมชน

ประเด็นก็คือ เมื่อดึงตัวผู้ติดเชื้อออกมาจากชุมชนได้แล้ว หากโรงพยาบาลยังไม่สะดวกมารับ หรือยังไม่มีเตียงเพื่อส่งต่อไปรักษา จะนำตัวผู้ติดเชื้อนั้นไปพักคอยไว้ที่ใด ?

ชุมชนแออัดที่ไม่มีพื้นที่สำหรับจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยฯ ย่อมเป็นไปได้ว่าอาจต้องให้ผู้ติดเชื้อรออยู่ในบ้าน-ในครัวเรือน แน่นอน นั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อภาพรวม

ศูนย์พักคอยฯ จึงเกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรงนี้ และกลายมาเป็น “พระเอก” ในซีซันแรก

น.ส.เพ็ญวดี แสดงจันทร์ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป เล่าว่า ขณะนี้ได้ร่วมกันมีการจัดตั้ง “ศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ” ขึ้นที่วัดสะพาน ซึ่งเป็นความร่วมมือของชุมชนกับการสนับสนุนจากภาคีภายนอก เพื่อแยกผู้ที่ติดเชื้อจากครัวเรือนออกมาให้การดูแลและประสานหาเตียง โดยศูนย์นี้รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 50 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถประสานเตียงให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง

หัวใจสำคัญของการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ คือการจัดระบบบริหารจัดการ ซึ่งใช้กลไกของ “คณะกรรมการชุมชน” ที่รู้จักชุมชนของตัวเองแบบทุกซอกทุกหลืบ

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า บทบาทสำคัญของศูนย์พักคอยฯ มีด้วยกัน 2 ประการ ได้แก่ 1. การตัดวงจรการระบาดในชุมชน ด้วยการแยกตัวผู้ติดเชื้อออกมาดูแลที่ศูนย์พักคอยฯ 2. การอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจำนวนมากออกจากชุมชนไปยังโรงพยาบาล ซึ่งรถพยาบาลหรือรถขนาดใหญ่สามารถเข้ามารับที่ศูนย์ฯ ได้ทันที

--- ก้าวต่อไป ‘ชุมชนจัดการตนเอง’ ---

อย่างไรก็ดี โควิด-19 มีเป็นซีรีย์ตอนยาวที่มีภาคต่อ นั่นหมายความว่าศูนย์พักคอยฯ เพียงอย่างเครื่องมือเดียวอาจไม่เพียงพอ ด้วยบริบทของคลองเตยมีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก ฉะนั้นการจัดการจำเป็นต้องครอบคลุม

นพ.วิรุฬ อธิบายเพิ่มเติมว่า ความครอบคลุมการดูแลดังกล่าว ประกอบด้วย 4 มิติสำคัญ ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งชุมชนได้วางระบบการส่งตัวออกมายังศูนย์พักคอยฯ เพื่อตัดวงจรการระบาด และวางระบบการประสานโรงพยาบาลไว้แล้ว

2. กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตรงนี้ต้องทำให้เกิด “การควบคุมพื้นที่โดยชุมชน” เพื่อจำกัดการเคลื่อนที่ในชุมชน โดยใช้คอนเซ็ปต์ Community Quarantine (CQ) 3. ผู้ที่ยังอยู่ในชุมชน จำเป็นต้องดูและทั้งการแพทย์ การป้องกันโรค อาหาร อาชีพ ฯลฯ และ 4. ผู้ป่วยที่กลับมาจากโรงพยาบาล

แน่นอน ชุมชนคลองเตยก็มองเห็นตรงนี้ และเตรียม “ยกระดับ” แผนชุมชนจัดการตนเองให้สอดคล้องต่อไป

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หนึ่งในหัวแรงสำคัที่ช่วยจัดระบบรับมือวิกฤตชุมชนคลองเตย มองว่า นอกจากการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ แล้ว ยังต้องเตรียมการเพิ่มเติมในอีก 2 ด้าน

หนึ่งในนั้นคือ การรองรับผู้ป่วยที่กลับมาจากโรงพยาบาล ซึ่งยังจำเป็นต้องสังเกตอาการเพื่อให้มั่นใจว่าหายขาด ไม่เกิดการแพร่เชื้อเมื่อกลับคืนสู่บ้าน

“กรณีที่ผู้ป่วยกลับจากการรักษาที่โรงพยาบาล อาจมีหลายกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่สะดวกหรือไม่สามารถกลับเข้าไปบ้านได้ทันที จึงจำเป็นต้องมี “ศูนย์พักฟื้นชุมชน” ขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยหลังได้รับการรักษาต่อไปอีกระยะหนึ่ง” นพ.ปรีดา เสนอ รวมไปถึงกลุ่มผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง ก็ควรมีพื้นที่สำหรับให้การดูแลเป็นการเฉพาะด้วย

นั่นคือก้าวต่อไป ที่ชุมชนคลองเตยกำลังจะดำเนินการ

--- ‘คลองเตยโมเดล’ สู่รากฐานชุมชนแออัด ---

“สิ่งที่จำเป็นต้องทำต่อจากนี้คือการสรุปบทเรียนของคลองเตยโมเดลให้เร็วที่สุด จากนั้นก็ขยายโมเดลต้นแบบนี้ออกไปในพื้นที่ต่างๆ โดยผู้ที่มีความสำคัญในการจัดการคือคณะกรรมการชุมชน ที่ต้องดูแลใน 4 ด้าน คือประสานทางการแพทย์ ประสานอาหาร ประสานอาชีพ และประสานการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับชุมชน

“ที่สำคัญคือภาครัฐต้องหนุนช่วยคือการปรับแก้ระเบียบของภาครัฐ เพื่อเปิดช่องให้ชุมชนได้มีส่วนจัดการตัวเอง และเข้ามาเชื่อมต่อกับภาครัฐในการทำงานร่วมกันต่อไป” นพ.ปรีดา ระบุ

สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนคลองเตย อาจเป็นภาพสะท้อนถึงความเดือนร้อนจากพิษโควิด-19 ในพื้นที่เปราะบางอื่นๆ ด้วย แม้ว่าหลายพื้นที่จะยังไม่เกิดเคสการติดเชื้อ หากแต่ก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ-ปากท้องไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

น.ส.วรรณา แก้วชาติ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เล่าว่า สถานการณ์ในพื้นที่อื่นๆ ที่เครือข่ายทำงาน แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะไม่รุนแรงเท่าคลองเตย แต่ด้านอื่นๆ ก็มีความคล้ายคลึงกัน เช่น สมาชิกในชุมชนตกงาน ขาดรายได้ ขาดอาหาร อุปกรณ์ป้องกันโรคมีไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ดี หากพูดในแง่ของความเดือดร้อนที่ต้องการการสนับสนุน คือการแบ่งเบาหนี้สิน การพักชำระหนี้ โดยเฉพาะค่าบ้าน-ค่าที่ดิน เช่น โครงการบ้านมั่นคงในขณะนี้ก็มีการเจรจาเพื่อขอพักชำระหนี้อยู่

“นอกจากเรื่องพักชำระหนี้แล้ว สมาชิกในเครือข่ายอยากได้รับการสนับสนุนเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค การคัดกรองโรค วัคซีน ซึ่งจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีบัตรประชาชน หรือไม่มีบัตรประชาชนก็ตาม เพราะจะช่วยให้คนทั้งประเทศปลอดภัย” น.ส.วรรณา ระบุ

สอดคล้องกับ นางจันทิมา ลังประเสริฐ เครือข่ายบ้านมั่นคง ที่เล่าว่า สมาชิกเครือข่ายบ้านมั่นคงทั่วประเทศมีมากกว่า 400 กลุ่ม โดยการระบาดในระลอก 1-2 ไม่เคยมีผู้ติดเชื้อเลย แต่รอบปัจจุบันได้พบผู้ติดเชื้อแล้ว ซึ่งในตอนแรกที่มีผู้ติดเชื้อเกิดความตื่นตระหนักกันมาก มีการวิ่งเข้าบ้านเพราะทำอะไรไม่ถูก จนกระทั่งผ่านไป 3 ชั่วโมงจึงมีการประสานกับศูนย์สาธารณสุขในพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือ

“ขณะนี้เครือข่ายได้ปรับตัวและมีระบบให้ความช่วยเหลือกัน แต่ด้วยทุกคนเป็นผู้มีรายได้น้อย เป็นคนยากจน จึงสายป่านสั้น เงินกองกลางของเครือข่ายที่มีอยู่ก็มีไม่มาก ฉะนั้นการดูแลผู้ที่กักตัว ผู้ที่กลับมาจากโรงพยาบาล จึงต้องการการสนับสนุน

“โดยเฉพาะเรื่องวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร ยารักษาโรคเบื้องต้น รวมทั้งเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ฯลฯ ที่สำคัญคือการสนับสนุนองค์ความรู้ในการตั้งศูนย์ในชุมชนเพื่อดูแลผู้กลับมาจากโรงพยาบาล” นางจันทิมา ระบุ

จากชุมชนคลองเตย ทำให้แนวคิดการทำงานในภาพรวมชัดเจนขึ้น 1. ต้องตัดวงจรการระบาดให้เร็วที่สุด 2. ต้องให้การช่วยเหลือด้านปัญหาปากท้อง ทั้งหมดนี้ คือโจทย์สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องสานพลังกันขับเคลื่อนงานต่อไปเพื่อให้ได้คำตอบ ซึ่งแน่นอนว่า ซีรีย์เรื่องยาวนี้ไม่มีคำตอบสุดท้าย

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขมวดประเด็นว่า เป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชนคลองเตย คือการสร้างระบบดูแลกันเองของประชาชนในระดับชุมชนที่เชื่อมต่อกับระบบใหญ่ ลดความตื่นตระหนกของประชาชน ลดภาระของระบบบริการหลักในการตระเตรียมที่ดูแลหรือศูนย์พักพิง ที่สำคัญคือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

“นี่เป็นหลักการใหญ่ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับชุมชนแออัดอื่นๆ ใน กทม. และปริมณฑล ซึ่ง สช.และภาคีเครือข่ายก็อยู่ระหว่างการต่อยอด เพื่อขยายไปยังจังหวัดต่างๆ ที่มีการระบาดต่อไป” นพ.ประทีป ระบุ

นั่นเพราะที่สุดแล้ว ความแตกต่างของชุมชน บริบทเฉพาะของชุมชน มีเพียงคนในชุมชนเท่านั้นที่สามารถแก้สมการของตัวเองได้ ความมั่นคงและเข้มแข็งจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยทุกคนร่วมมือร่วมใจและมีส่วนร่วมในการจัดการ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘คลองเตย’ คือก้าวสำคัญที่จะปูทางไปสู่การวางระบบจัดการโควิด-19 ในชุมชนแออัดอื่นๆ ทั่วประเทศ

เรียกได้ว่า เป็นต้นแบบกู้วิกฤตชุมชนแออัด ก็คงไม่เกินจริง