ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์หลายรายร่วมค้านกรณีผู้ว่าฯ อัศวิน เผยแนวคิดให้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" กับผู้ติดเชื้อโควิดทุกคนตั้งแต่วันแรก พ้องเสียงกังวล-หวั่นเกิด "เชื้อดื้อยา" ห่วงยาขาดแคลนไม่เพียงพอใช้รายที่จำเป็น


รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่าไม่เห็นด้วยถึงแนวคิดที่จะขยายการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ให้เข้าใกล้ 100% ของผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องจากการกวาดให้ยาแบบไม่แยกแยะนั้นจะก่อให้เกิดข้อเสีย

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ยาอาจขาดมือจากที่สำรองไว้ ทำให้ผู้ป่วยรายที่จำเป็นอาจไม่ได้ยาชั่วคราวหรือได้ไม่เต็มจำนวน 2. การใช้ยาตั้งแต่แรกอาจทำให้แพทย์นิ่งนอนใจในประสิทธิภาพของยา จนอาจทำให้ละเลยการเฝ้าระวังการเกิดปอดอักเสบ ซึ่งยานี้ยังไม่มีหลักฐานว่าป้องกันการเกิดปอดอักเสบหรือทำให้ปอดอักเสบเล็กน้อยไม่ลุกลาม 3. การใช้ยาฆ่าเชื้อที่ไม่สมเหตุสมผล (non-rational drug use) จะนำมาซึ่งการเกิดเชื้อดื้อยาภายหลัง

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุว่า ปัจจุบันมีอัตราการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ที่ระหว่าง 20-70% แล้วแต่ความสะดวกของการเข้าถึงยาในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่มาของความฉิวเฉียดในการมียาสำรองใช้เกือบไม่เพียงพอ ในระหว่างที่เกิดการระบาดระลอกสามอย่างรวดเร็ว มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มแบบทวีคูณ ควบคู่ไปกับยอดการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์

เช่นเดียวกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า กรณีการใช้ฟาวิพิราเวียร์อย่างมากมายเกินความจำเป็นจะเกิดการดื้อยาขึ้นหรือไม่นั้น ได้มีรายงานการศึกษาในวารสาร PNAS 2018 พบว่าถ้ามีการเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม mutation ตำแหน่งที่หนึ่ง จะทำให้เกิดดื้อยา แต่ก็ compromise viral fitness หรือทำให้ไวรัสต้องใช้พลังงานไปเยอะและอ่อนแอลง

"ถ้ามีตำแหน่งที่ 2 จะ restore viral fitness หรือทำให้ไวรัสแข็งแรงขึ้นต่อและทำให้ดื้อยาต่อได้ ซึ่งอย่างไรก็ตามคณะผู้วิจัยยังดูว่าโอกาสที่เกิดขึ้นน่าจะน้อย หากแต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีการใช้อย่างมากมายทั่วไปหมดจะเกิดการดื้อยาขึ้นหรือไม่" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังระบุว่า การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการทั้งสิ้น เช่น ในชุมชนแออัด โดยหวังจะหยุดการระบาดต้องพิจารณาให้ดีว่า 1. การทำเช่นนั้นแท้จริงแล้วสามารถหยุดการแพร่กระจายโรคได้หรือไม่ ในเมื่อคนที่ติดเชื้อแท้จริงแล้วในชุมชนยังมีมากมายที่ยังไม่ได้ตรวจและไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลสนาม ขณะที่ยาควรจะเก็บไว้ในผู้ป่วยที่ต้องช่วยชีวิตเพราะยาอาจไม่น่าจะมีจำนวนมหาศาล 2. นอกจากนั้นถ้าใช้ยังพร่ำเพรื่ออาจจะมีโอกาสที่เกิดเชื้อดื้อยา ถึงแม้ขณะนี้อาจมีโอกาสน้อย

ด้านเฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท ยังได้ระบุว่า การแจกยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยทุกคน​นั้นผิดหลักการ​ ยานะครับไม่ใข่ขนม เพราะยาฟาวิพิราเวียร์ มีไว้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางหรืออาการหนักเท่านั้น ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้แต่อย่างใด​ ซึ่งถูกต้องตามหลักการการใช้ยาที่สมเหตุสมผล

"ปัจจุบันยามีอยู่เพียง 2 ล้านเม็ด​ใช้ได้ไม่เกิน 4 หมื่นคน และรัฐบาลก็ไม่ส่งสัญญาณใดๆ ให้องค์การเภสัชกรรมซึ่งสามารถผลิตยานี้​ให้ได้เดินหน้าผลิตยาได้​ การแจกยาเช่นนี้จะยิ่งทำให้เกิดภาวะขาดแคลนยา​ อาจเกิดภาวะการดื้อยา​หรือเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ฝากรัฐบาล​ สธ.​ และท่านผู้ว่าอัศวินทำความเข้าใจกับสังคมใหม่ด้วย​ อย่างด่วนเลยครับ" ชมรมแพทย์ชนบท ระบุผ่านเฟซบุ๊ก

อนึ่ง เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดเผยถึงแนวคิดที่จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเขียวรายใหม่ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามทันทีตั้งแต่วันแรก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโควิดเขียวติดเชื้อลุกลามหรือมีอาการรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นโควิดเหลืองหรือแดง ซึ่งโดยปกติยาฟาวิพิราเวียร์ทางการแพทย์จะให้ผู้ป่วยเริ่มกินเมื่อการติดเชื้อแสดงอาการ (โควิดเหลือง) แต่ กทม.เห็นว่าควรให้ทานตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ เพื่อรักษาและป้องกันการลุกลามของโรค โดย กทม.จะนำร่องให้ยาก่อน