ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พบโควิด-19 แพร่กระจายสู่แฟลตดินแดงแล้ว เบื้องต้นสั่งปิดแล้ว 2 ตึก รวมถึงตลาดสดห้วยขวางด้วย อสส.วอนรัฐคัดกรองเชิงรุก-สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันโรคให้เจ้าหน้าที่


นางธนาวดี นามศรีนวล ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) กรุงเทพมหานคร เขตดินแดง เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อในเขตดินแดงรวม 280 ราย โดยพบการแพร่กระจายไปยังชุมชนต่างๆ ในบริเวณแล้ว อาทิ แฟลตหน้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น แฟลตหลังสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น แฟลต 8 และ 12 ขั้น แฟลตหลัง สน.ดินแดง

“ในตอนนี้เราพบผู้ติดเชื้อที่อาศัยอยู่ในบริเวณ แฟลต ช. 1- 2 รวมแล้ว 10 กว่าราย และได้มีการสั่งปิดแฟลตดังกล่าวไปแล้ว รวมไปถึงบริเวณตลาดสดห้วยขวางด้วย” นางธนาวดี กล่าว

นางธนาวดี กล่าวว่า พื้นที่บริเวณเคหะดินแดงจะแตกต่างไปจากชุมชนคลองเตย เนื่องจากยังพบการระบาดเพียงบางแฟลตเท่านั้น หากมีการติดเชื้อก็จะติดเพียงไม่กี่ห้อง ซึ่งพื้นที่ที่มีปัญหาจริงๆ คือแฟลต ช.1-2 ที่ได้มีการปิดไปแล้ว

อย่างไรก็ดี อยากจะให้รัฐบาลมีมาตรการการตรวจหาเชื้อแบบเชิงรุกที่ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมา มีเพียงแค่ชาวบ้านบางส่วนที่มีสิทธิประกันสังคมที่ได้เข้าคัดกรองเท่านั้น ส่วนประชาชนในพื้นที่อีกจำนวนมากยังไม่ได้คัดกรอง

นางธนาวดี กล่าวว่า ปัญหาในตอนนี้คือการระวังตัว เพราะยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ยังไม่ได้ให้ความร่วมมือ ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย และผู้สูงอายุบางรายยังมีการเดินเข้า-ออก รวมถึงตลาดเช้าดินแดงที่ยังมีแม่ค้าบางส่วนไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งก็ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบ

“แน่นอนว่าก็ยังมีกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากที่พักอาศัยเป็นลักษณะห้องติดกัน และยังจำเป็นต้องเดินผ่านห้อง หรือเดินผ่านกันตรงบริเวณบันได ซึ่งตอนนี้ก็ได้มีการรวบรวมรายชื่อเพื่อจัดถุงยังชีพในการช่วยเหลือต่อไป” นางธนาวดี กล่าว

นางธนาวดี กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามา มีแต่เพียงที่ทาง ออส. แจ้งไปตามศูนย์บริการเท่านั้น ในบางกรณีก็จะโทรไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการประสานงานเพื่อหาเตียงให้ผู้ป่วย แต่ตามขั้นตอนการติดต่อเพื่อขอรับเตียงของผู้ป่วยยังต้องรอนาน เพราะโรงพยาบาลไม่มีเตียง และไม่มีรถรับ-ส่งผู้ป่วยที่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยบางรายนั้นต้องรอหลายวัน

“ถ้าต้องการตัดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ต้องมีการรับผู้ป่วยไปในทันที โดยไม่ต้องปล่อยให้รอนานขนาดนี้ บางรายต้องรอเป็นอาทิตย์ ผู้ป่วยเองก็แย่ รวมไปถึงครอบครัวของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน” นางธนาวดี ระบุ

นางธนาวดี กล่าวว่า สิ่งที่ ออส. กำลังทำในตอนนี้คือการจัดหาถุงยังชีพให้กับครอบครัวผู้ติดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถออกไปไหน จึงจำเป็นต้องมีการประสานงานกันระหว่าง อสส. ทั้งนี้แม้จะมี อสส. เข้าคอยเข้าไปดูแล ก็อาจไม่ได้เต็มที่เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน โดยเท่าที่รู้จาก อสส. ด้วยกันเองนั้นพบว่าไม่มีอุปกรณ์ เช่น ชุดป้องกัน หมวก หมายความว่าเมื่อไม่มี ก็ไม่สามารถเข้าตรวจคัดกรอง-ช่วยเหลือได้

“แม้จะมีพยาบาลที่เข้ามาช่วยนั้น ก็มีเพียงแค่ศูนย์ละ 2-3 รายเท่านั้น ซึ่งก็ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้อาสาสมัครเข้าไปช่วย อย่างน้อยที่สุดถ้ามีเครื่องมือในการป้องกันก็จะสามารถทำให้ช่วยคัดกรองกันได้อีก 1 แรง ถ้าอยากให้ผู้ป่วยน้อย หรือเบาลง ก็ต้องรู้ให้ไว ซึ่งก็ต้องมีการติดอาวุธให้กับอาสาสมัครไว้เพียงป้องกันตัว” นางธนาวดี กล่าว