ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นปัญหามาระยะหนึ่งแล้วสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีผู้ป่วยหลายรายทราบผลตรวจว่าติดเชื้อแต่ไม่มีเตียงรองรับ จำเป็นต้องกักตัวอยู่ที่บ้านหลายวัน บางรายถึงขั้นรอเตียงจนเสียชีวิต

แม้จะมีสายด่วนให้โทรติดต่อประสานขอเตียง เช่น 1668 ของกรมการแพทย์ 1330 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือสายด่วน 1646 ของศูนย์เอราวัณ แต่โทรไปแล้วก็ยังไม่ได้เตียงสักที สวนทางกับข้อมูลของภาครัฐระบุว่ามีเตียงเพียงพอทั้งโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel

การที่ตัวเองติดเชื้อแล้วต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่รู้อนาคตว่าจะได้เตียงเมื่อไหร่ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง ยิ่งเกิดกรณีมีผู้เสียชีวิตที่บ้านเพราะไม่มีหน่วยงานไหนมารับตัว ยิ่งปลุกเร้าอารมณ์ของคนในสังคมอย่างรุนแรงและไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ถ้ามองไปที่พื้นที่ใกล้ๆ อย่างเช่น จ.นนทบุรี ซึ่งมีรอยต่อติดกับ กทม. มีการระบาดหนักในพื้นที่ อ.เมืองนนทบุรี และ อ.ปากเกร็ด ซึ่งก็ถือว่ามีลักษณะเป็นเขตเมือง มีความหนาแน่นของประชากรไม่ต่างจาก กทม. แต่การบริการจัดการของ จ.นนทบุรี กลับทำได้ดีเยี่ยม สามารถจัดสรรเตียงให้ผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีใครถูกปล่อยให้รออยู่บ้านโดยไม่รู้อนาคต

จ.นนทบุรี ทำเรื่องนี้ได้อย่างไร “The Coverage” ได้พูดคุยกับ นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ถึงแนวทางการทำงานในพื้นที่

ปั๊มเตียงเพิ่มรับมือระบาดใหญ่

นพ.รุ่งฤทัย บอกเล่าถึงแนวทางการทำงานของ จ.นนทบุรี ว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด นำโดยนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผวจ.นนทบุรี ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดมาโดยตลอด ในส่วนของทีมสาธารณสุขก็วิเคราะห์สถานการณ์ให้ที่ประชุมรับทราบว่าเป็นอย่างไร ซึ่งในการระบาดระลอกนี้ตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึงต้นเดือน เม.ย. ก็ได้จัดเตรียมเตียงเพิ่ม

จากเดิมในเดือน ม.ค. มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 400 เตียง หลังจากนั้นแต่ละโรงพยาบาลก็พยายามเอาพื้นที่หรือเตียงที่ว่างมาทำเป็นหอผู้ป่วยรวม (cohort ward) รวมแล้วเพิ่มเป็น 600 เตียง

จนถึงประมาณวันที่ 4 เม.ย. เป็นต้นมา เรามีผู้ป่วยในเดือนนี้ประมาณ 1,800 คน ซึ่งถ้าดูของเดิมเตียงก็จะไม่พอ ดังนั้นช่วงกลางเดือนทางผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเรียกประชุมและกำหนดแนวทางว่าต้องตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยพิจารณาจากดูปัจจัยเรื่องความใกล้แหล่งระบาด ใกล้โรงพยาบาล เดินทางง่าย ส่งตัวไปกลับง่าย

ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ให้ใช้พื้นที่โรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัยเป็นที่ที่ตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยเริ่ม set up วันที่ 15 เม.ย. และเปิดใช้งานวันที่ 18 เม.ย. เบื้องต้นรับได้ 350 เตียงและขยายเป็น 700 เตียงในขณะนี้

นพ.รุ่งฤทัย เล่าต่อไปว่า เมื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเสร็จก็เริ่มผ่องถ่ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาล โดยแบ่งเป็นสีเขียว คือผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ จะนำไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม ส่วนคนไข้สีเหลืองอาการเล็กน้อยจนถึงปานกลาง ได้ปรับบทบาทโรงพยาบาลชุมชน จากตอนแรกรับผู้ป่วยสีเขียวก็ให้เปลี่ยนไปรับผู้ป่วยสีเหลือง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลชุมชนเป็นอย่างดี เช่น โรงพยาบาลบางบัวทอง 20 เตียง โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 อีก 20 เตียง โรงพยาบาลบางใหญ่ 20 เตียง โรงพยาบาลบางกรวยได้อีก 30 เตียง ศูนย์การแพทย์นนทบุรีอีก 20 เตียง รวมกันได้ 110 เตียง ซึ่งถือว่าเยอะพอสมควร

Matching ผู้ป่วยกับโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการระบาดรอบนี้ไม่ได้อยู่ที่คนไข้ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยซึ่งมีเตียงเพียงพอ แต่จะไปแน่นในส่วนของเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการปานกลางจนถึงรุนแรง “นพ.รุ่งฤทัย” บอกว่า รอบนี้ผู้ป่วยอาการรุนแรงมีเยอะมาก เทียบจากการการระบาดรอบก่อนๆ ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจนต้องเข้าห้องความดันลบมีไม่ถึง 10% แต่ตอนหลังเพิ่มเป็น 11% แล้ว ซึ่งส่วนผู้ป่วยสีแดงก็จะมีโรงพยาบาลพระนั่งเกล้ามีเตียงรองรับได้ 59 เตียง และโรงพยาบาลพยาบาลชลประทานอีก 64 เตียง รวมแล้ว 123 เตียง

เมื่อถามถึงการจัดการเตรียมพร้อมในเรื่องเตียงแล้ว มาดูที่ระบบการ Matching ผู้ป่วยกับเตียงกันบ้าง “นพ.รุ่งฤทัย” อธิบายว่า แต่ละวันผู้ที่มาทำการตรวจหาเชื้อในตอนเช้า จะมีการรายงานผลแล็บในเวลา 15.00 น. เมื่อพบผู้ที่ผลตรวจเป็นบวก งานก็จะเริ่มขึ้น

โดยข้อมูลจะถูกส่งให้ศูนย์รับและส่งต่อผู้ป่วย ศูนย์นี้จะโทรกลับไปหาผู้ป่วยเพื่อติดต่อสอบถามและนัดรับตัวมาโรงพยาบาล ถ้ามี 100 รายก็ไปรับทั้งหมด โดยประสานให้รถฉุกเฉินของแต่ระโรงพยาบาลไปรับ หรือหากในบางพื้นที่มีรถฉุกเฉินไม่พอ ก็จะเอารถของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และรถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปช่วยรับส่งตัวด้วย

"แรกๆ ใช้รถของโรงพยาบาลอย่างเดียว กว่าจะรับคนสุดท้ายเข้าโรงพยาบาลสนามได้ก็ 5 ทุ่มเที่ยงคืน แต่ตอนนี้เรามีรถต่างๆ กระจายตัวตามพื้นที่ต่างๆ หมดแล้ว การลำเลียงคนไข้ก็จะแยกตามอาการ ถ้าอาการน้อยไปโรงพยาบาลสนาม อาการปานกลางไปโรงพยาบาลชุมชนที่จัดไว้ ถ้าอาการรุนแรงไปโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า”

นอกจากนี้ยังมีการประสานข้อมูลกันตลอด ถ้าอาการรุนแรงลดลงกลายเป็นปานกลางก็ส่งกลับไปโรงพยาบาลชุมชน การจัดการแบบนี้เป็นลักษณะของการประสานงานร่วมกัน ใช้เตียงร่วมกัน

อย่างโรงพยาบาลเอกชน ประมาณวันที่ 20 เม.ย. เริ่มเตียงเต็ม ไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ ก็มาใช้เตียงได้ หรือบางคนจากจังหวัดอื่นที่ร้องขอในเชิงมนุษยธรรมหรือกรณีสถาบันบำราศนราดูรที่มีผู้ป่วยจากจังหวัดอื่นมารักษาตัวเราก็จะแลก case กัน

Single Command หัวใจความสำเร็จ

นพ.รุ่งฤทัย สรุปว่า ทั้งหมดนี้เป็น pattern หรือลักษณะการทำงานที่ประสานความร่วมมือระหว่างทุกหน่วยทุกโรงพยาบาล ทั้งรัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย มีการคาดการณ์ล่วงหน้า มีการเตรียมการล่วงหน้า และอีกส่วนคือการสื่อสารกับประชาชน

เมื่อประชาชนโทรแจ้งเข้ามาหรือสแกน QR code เข้ามา เจ้าหน้าที่ก็ติดต่อกลับไปทันที ส่วนการจัดการระบบข้อมูลในลักษณะที่มีหน่วยงานหลายสังกัดร่วมงานกันนั้น จะเป็นการรวมศูนย์ข้อมูลอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มีศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินโควิดทำหน้าที่ประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ต่างรายวัน ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนเตียงว่าง และการรับส่งต่อผู้ป่วยต่างๆ

สถานการณ์ในขณะนี้เริ่มดูดีขึ้น จากตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 24 เม.ย. 178 ราย ก็เริ่มลดลงมาเรื่อยๆ เป็น 112 รายในวันที่ 29 เม.ย. และถ้าผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตั้งแต่วันแรกเริ่มระบายออก การบริหารเตียงก็จะทำได้ดีขึ้นอีก

"จริงๆ จ.นนทบุรี กับ กทม.แทบไม่มีความแตกต่างกัน ความเชื่อมโยงของเคสต่างๆ เหมือน กทม.หมด แต่ต่างกันตรงที่ว่าการทำงานของแต่ละจังหวัดที่ไม่ใช่ กทม. เรามีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นตัวประสานเชื่อมโยงบูรณาการงานทั้งหมด และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น CEO คอยตัดสินใจและสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ส่วน กทม. มีหลายหน่วยงาน หลายผู้บังคับบัญชา การสั่งการต่างๆ อาจจะไม่ได้เป็น Single Command เหมือนในต่างจังหวัด" นพ.รุ่งฤทัย ระบุ