ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“FTA Watch” อ่านเกม! อีกไม่ต่ำกว่า 7 เดือน ถึงจะคว่ำคำขอสิทธิบัตรฟาวิพิราเวียร์ได้ ย้ำกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องยกเลิกทันที จี้รัฐบาลประกาศซีแอล-หนุน อภ.ผลิตใช้เองในประเทศ


น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เปิดเผยว่า การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ไม่ยอมยกเลิกคำขอสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ (Favilavir) ของบริษัทยาต้นแบบ แต่กลับแจ้งให้บริษัทยาต้นแบบกลับไปแก้ไข หรือชี้แจงคำขอนั้น ตามกระบวนการแล้วอาจต้องใช้ระยะเวลาถึง 7 เดือน จึงจะสามารถปฏิเสธคำขอดังกล่าวได้

“ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิขอผ่อนผันได้ 2 ครั้ง ครั้งแรกภายใน 90 วัน และครั้งที่ 2 อีก 30 วัน แล้วก็จะมีข้ออ้างเพิ่มเติมว่าต้องพิจารณาตามลำดับ หยิบมาลัดคิวไม่ได้เพราะอาจถูกฟ้อง ดังนั้นช่วงเวลากว่าจะปฏิเสธคำขอได้ต้องใช้เวลารวมๆ ประมาณ 7 เดือน” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า การยื่นคำขอจดสิทธิบัตรสูตรตำรับยาเม็ดของบริษัทยาต้นแบบ ไม่ได้มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น จึงไม่เข้าข่ายที่จะได้รับสิทธิบัตร ยืนยันว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องยกเลิกคำร้องโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลังหากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะผลิตเพื่อใช้เองในประเทศ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รวบอำนาจสั่งการตามกฎหมายหลายฉบับเพื่อบริการจัดการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จำเป็นต้องมีคำสั่งกับ อภ. อย่างชัดเจนเพื่อให้ดำเนินการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ด้วย

“รัฐบาลต้องกล้าประกาศนโยบายสนับสนุนให้ อภ.เดินหน้าผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ต้องกล้าประกาศว่าถ้าถูกฟ้องจะสู้คดี หรือถ้าได้สิทธิบัตรจะประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) แต่ที่ปรากฎในขณะนี้เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่มีความกล้าหาญทางการเมืองแล้ว ยังไม่เข้าใจการบริหารประเทศในภาวะวิกฤตอีกด้วย” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่มีความสำคัญต่อการรักษาโควิด-19 และประเทศไทยก็พึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงไม่มีความมั่นคงแต่อย่างใด

อนึ่ง ปัจจุบัน อภ. มีศักยภาพและมีความพร้อมในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเตรียมจะขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คาดว่าจะได้รับทะเบียนตำรับยาภายในเดือน ก.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม แม้ อภ.จะได้รับทะเบียนตำรับแล้วก็ยังไม่กล้าผลิตออกมาจำหน่าย เนื่องจากคำขอสิทธิบัตรยาของบริษัทยาต้นแบบยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา หาก อภ. ตัดสินใจผลิตยาออกมาจำหน่าย และท้ายที่สุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้สิทธิบัตรบริษัทยาต้นแบบ อภ.ก็จะมีความเสี่ยงถูกฟ้องร้องได้