ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย เตือนหากหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด-19 เสี่ยงโรครุนแรงกว่าปกติ แนะเลื่อนนัดตรวจออกไปก่อน ย้ำควรไปฉีดวัคซีนป้องกันกรณีหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ให้เลือกซิโนแวคก่อนเพราะเป็นเชื้อตาย


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการนัดหมายตรวจครรภ์ ในกรณีที่ตั้งครรภ์ช่วงไตรมาส 1-2 โดยที่ไม่มีการนัดตรวจพิเศษอื่นๆ สามารถโทรติดต่อขอเลื่อนนัดตรวจครรภ์ออกไปตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ในกรณีรายที่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์เป็นต้นไป และในรายที่เป็นกลุ่มครรภ์เสี่ยงสูงหรือมีโรคร่วม ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ธัยรอยด์ หัวใจ หอบหืด ปอดเรื้อรัง ไต และภูมิต้านทานผิดปกติ ควรไปฝากครรภ์ตามแพทย์นัดทุกครั้ง โดยมีการนัดเวลาล่วงหน้า เพื่อลดระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลให้สั้นที่สุด และหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์สังเกตอาการผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น บวม ลูกดิ้นน้อยลง มีเลือดออกทางช่องคลอด เจ็บครรภ์ น้ำเดิน โดยหากมีอาการดังกล่าว ให้โทรประสานกับหน่วยบริการที่ฝากครรภ์เพื่อส่งต่อโรงพยาบาลต่อไป

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจของกรมอนามัยล่าสุด วันที่ 28 เม.ย. 2564 พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 77 ราย ไม่มีอาการ 43 ราย มีอาการปอดอักเสบแต่ไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ 21 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยส่วนใหญ่ 81.5% ติดเชื้อในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ขณะที่ข้อมูลการใช้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์พบว่ายังมีไม่มาก

ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย กล่าวว่า จากการประชุมหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายได้ข้อสรุปในเบื้องต้น โดยมีคำแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับวัคซีน และควรได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์และอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน รวมทั้งความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19 และความรุนแรงของโรคก่อนตัดสินใจ

ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ที่ควรได้รับวัคซีนก่อน มีหลักการพิจารณาเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ประกอบด้วย เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น บุคลากรทางการแพทย์ บุคคลที่ทำงานในลักษณะที่ต้องสัมผัสกับคนหมู่มาก บุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคสูง รวมถึงกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์

สำหรับช่วงเวลาที่แนะนำให้ฉีดวัคซีน คือช่วงหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป และแนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคก่อน เนื่องจากผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว ในขณะที่แอสตราเซเนกา เป็น viral vector vaccine จึงมีโอกาสเกิดอาการไข้หลังฉีดได้มาก โดยมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหญิงที่อายุน้อยกว่า 30 ปี แต่พบน้อยมาก ส่วนหญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถรับการฉีดวัคซีนได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป