ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสภาเภสัชกรรม จี้กรมทรัพย์สินทางปัญญายกเลิกคำขอสิทธิบัตร “ยาฟาวิพิราเวียร์” เหตุไม่เข้าเงื่อนไขขั้นการประดิฐ์ที่สูงขึ้น เพื่อเปิดช่องให้ อภ. ผลิตใช้เองได้ในประเทศ


รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า สนับสนุนให้ประเทศไทยดำเนินการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ด้วยตัวเองเพื่อใช้ในประเทศ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ควรรีบยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรจากบริษัทผู้ผลิต เพื่อให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตยาดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว และไม่ต้องกังวลว่าจะถูกฟ้องหรือไม่

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ตัวยาไม่สามารถจะขอสิทธิบัตรในไทยได้แล้ว และไม่มีสิทธิบัตรตัวยาในไทย จึงได้มีการยื่นคำขอในลักษณะสูตรตำรับยาเม็ด โดยไม่ได้มีขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งเงื่อนไขของการขอรับสิทธิบัตรยานั้น จำเป็นต้องเป็นยาที่มีขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้น ฉะนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องรีบยกเลิกคำขอ หรือไม่รับตั้งแต่ต้น

“คำขอนี้เป็นคำขอที่นำเอายาเก่ามาดัดแปลงเพียงเล็กน้อย แล้วบอกว่ายาตัวนี้เป็นยาใหม่ ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้เขาสามารถต่ออายุสิทธิบัตรไปได้เรื่อยๆ แต่ด้วยยาตัวนี้บริษัทผู้ผลิตไม่ได้ขอสิทธิบัตรในประเทศไทยในเรื่องตัวยาสำคัญไว้ตั้งแต่ต้น และปัจจุบันก็หมดเวลายื่นคำขอไปแล้ว ฉะนั้นแม้ยาจะมีสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศไทย” รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อคำขอสิทธิบัตรยังค้างอยู่ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ทาง อภ. ก็ไม่กล้าผลิต เพราะถ้าผลิตออกมา แล้วสุดท้ายกรมทรัพย์สินทางปัญญายอมให้สิทธิบัตร ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหา โดยอายุของสิทธิบัตรจากเจ้าของสิทธิบัตรจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ไม่ใช่วันที่ได้รับสิทธิบัตร ตรงนี้ก็จะกระทบต่อสิ่งที่ อภ. กำลังดำเนินการ

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องยกเลิกคำขอตรงนี้ เพื่อให้ทาง อภ.สามารถผลิตยาออกมาได้  นอกจากนี้รัฐเองก็จำเป็นต้องเป็นหลักพิงให้กับ อภ. ด้วย เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เองได้ หากรอแต่การนำเข้า ในอนาคตอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาขาดแคลนยาได้” รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าว

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวว่า การแก้ปัญหา มี 2 วิธี วิธีแรก คือกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องยกเลิกคำขอสิทธิบัตร เพราะคำขอนี้เป็นเพียงคำขอที่ตกค้าง และเป็นคำขอที่ไม่สมควรได้ โดยหลายประเทศก็ได้มีการยกเลิกไปแล้ว และวิธีที่สองรัฐบาลต้องมีความกล้าหาญทางการเมืองในการรับผิดชอบและสนับสนุนให้ อภ. ผลิตยาตัวนี้ทันที เนื่องจากเป็นความจำเป็นของประเทศเพื่อช่วยชีวิตผู้ได้รับเชื้อโควิด การได้รับสิทธิบัตรในต่างประเทศไม่เกี่ยวข้องและไม่มีสิทธิผูกขาดในประเทศไทย

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวด้วยว่า ในฐานะนายกสภาเภสัชกรรมมองว่า ประเทศอินเดียซึ่งเป็นแหล่งผลิตยารายใหญ่ของโลกก็กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขณะนี้นี้ก็ได้มีการระงับการส่งออกยาบางตัวแล้ว ด้วยเหตุผลนี้ เมื่อประเทศไทยสามารถผลิตยาเองได้ก็ต้องรีบทำเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางยา ว่าอย่างน้อยคนไทยก็จะมียาใช้อย่างแน่นอน​