ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้เผยแพร่ผลสำรวจการให้บริการสาธารณสุขหลัก (Essential health care) ใน 135 ประเทศทั่วโลก สำรวจครอบคลุมการให้บริการสาธารณสุข 63 ประเภท ในช่วงเดือน ต.ค. 2563 – ก.พ. 2564

พบว่า 90% ของประเทศนี้เหล่านี้ ต้องหยุดหรือชะลอให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อประชาชน ในช่วงสถานการณ์ระบาดโรคโควิด 19

นั่นเพราะรัฐบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขจำเป็นต้องโยกย้ายทรัพยากร รวมทั้งงบประมาณ บุคลากรทางการแพทย์ และพื้นที่ในสถานพยาบาล เพื่อไปดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทำให้บริการสาธารณสุขด้านอื่นๆถูกลดบทบาทความสำคัญลง

ยกตัวอย่างเช่น 20% ของประเทศที่ทำการสำรวจ ต้องชะลอการให้บริการการแทย์ฉุกเฉินและการผ่าตัดชีวิตให้กับผู้ป่วยที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19

40% ไม่สามารถให้บริการด้านสุขภาพจิต การรักษาระบบประสาท ทันตกรรม ผู้ป่วยจากการใช้สารเสพติด ผู้ป่วยที่มีโรคเขตร้อน วัณโรค เอชไอวี ตับอักเสบบีและซี โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันและเบาหวาน

บริการด้านส่งเสริมและป้องกันโรคก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะบริการคัดกรองโรคมะเร็ง การวางแผนครอบครัว การแจกจ่ายวัคซีนขั้นพื้นฐานและสารอาหารให้เด็ก

“โรคระบาดครั้งนี้สร้างความท้าทายให้กับระบบสาธารณสุขโลกอย่างมาก เกิดผลกระทบไปไกลกว่าความเจ็บป่วยจากตัวโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กซึ่งไม่สามารถรับวัคซีนขั้นพื้นฐานได้ตามปกติ” เฮนเรียตตา โฟร์ (Henrietta Fore) ผู้อำนวยการบริหารประจำองค์กรยูนิเซฟกล่าว

ในขณะที่เรากำลังเร่งให้วัคซีนโควิด-19 กับประชาชน บริการให้วัคซีนอื่นๆกั บเด็กก็ไม่ควรถูกชะลอออกไป เราต้องไม่ให้การต่อสู้กับโรคระบาด มาหยุดยั้งการต่อสู้กับโรคอื่นๆ เช่น โรคหัด โปลิโอ หรือ การให้วัคซีนป้องกันโรคยิ่งบริการเหล่านี้ถูกชะลอออกไป ยิ่งสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก”

การสำรวจขององค์การอนามัยโลกยังพบอีกว่า 66% ของประเทศที่ทำการสำรวจขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ จนไม่สามารถให้บริการสาธารณสุขที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19

1 ใน 3 ของประเทศถูกโรคระบาดขัดขวางห่วงโซ่อุปทานในการขนส่งยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน  

มากกว่าครึ่งของประเทศไม่สามารถให้บริการได้ เพราะผู้ป่วยหยุดมาหาหมอ ด้วยความกังวลว่าตนจะติดโรคโควิด-19 นอกจากนี้ 43% ของประเทศมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ เมื่อโยกเงินมาอุดหนุนบริการด้านโควิด-19 ก็ไม่สามารถหนุนบริการประเภทอื่นๆ ได้เต็มที่

แม้ว่าสถานพยาบาลจะกลับมาให้บริการบางประเภทในต้นปีที่ผ่านมา หลังจากสถานการณ์โรคระบาดผ่อนปรนลงในบางประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ทั้งหมด

“เรารู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น ที่เห็นหลายประเทศสามารถกลับมาให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็น แต่ยังมีหลายอย่างที่ต้องการการแก้ไข” นพ. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าว

“การสำรวจที่องค์การอนามัยโลกจัดทำขึ้นนี้ ชี้ให้เห็นว่าเราต้องพยายามให้หนักขึ้น เพื่อปิดช่องว่างด้านบริการด้านสาธารณสุข และเพิ่มความเข้มเข็งให้กับระบบสุขภาพ โดยเฉพาะในประเทศที่มีช่องว่างการให้บริการมาตั้งแต่เดิมก่อนเกิดโรคระบาด”

องค์การอนามัยโลกขอให้ทุกประเทศสร้างสมดุลระหว่างการให้บริการโควิด-19 และบริการด้านสาธารณสุขอื่นๆ รวมทั้งหาวิธีการปรับเปลี่ยนการทำงาน เพื่อให้ประชาชนยังเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น

รัฐบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขในบางประเทศได้ใช้วิธีการต่างๆ เพื่อกระจายบริการให้มากที่สุด แม้อยู่ในสภาวะฉุกเฉินจากโรคระบาด

โดยทำงานด้านการสื่อสารถึงผู้ป่วยให้รับรู้การปรับเปลี่ยนบริการด้านสาธารณสุข เช่น เพิ่มการเยี่ยมบ้านโดยเจ้าหน้าที่ ให้ยาผู้ป่วยสำหรับใช้หลายเดือน และเพิ่มบริการโทรเวชกรรม (Telemedicine)

หน่วยงานหลายแห่งยังจัดลำดับความสำคัญของบริการ โดยให้ผู้ป่วยที่ต้องการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินมาก่อน เพิ่มจำนวนบุคลากรให้เพียงพอกับความต้องการ และส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่ไม่แออัดมากนัก

ที่มา: https://www.who.int/news/item/23-04-2021-covid-19-continues-to-disrupt-essential-health-services-in-90-of-countries