ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อพูดถึง เภสัชวิทยา เชื่อว่าหลายคนคงไม่คุ้นชินเท่าใดนัก โดยทั่วไปมักจะรู้จักกันแต่ “เภสัชกร-เภสัชกรรม” ซึ่งพออนุมานได้ว่าเป็นสาขาการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับ “ยา”

ที่จริงแล้ว “เภสัชวิทยา” ก็ศึกษาเกี่ยวกับยา และเป็นสาขาวิชาหนึ่งของเภสัชศาสตร์ มุ่งไปที่ขบวนการที่ร่างกายจัดการยาและการออกฤทธิ์ของยา การใช้ยาเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดและปลอดภัย ซึ่งจะแตกต่างกับเภสัชกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต-การปรุงสูตรยา ในรูปแบบต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและสภาวะของโรค

ที่สำคัญก็คือ ด้วยองค์ความรู้ของเภสัชวิทยา ทำให้ประเทศไทยสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์จากประเทศที่มักเป็นจุดเริ่มต้นและแพร่กระจาย เชื้อมาลาเรีย ซึ่งดื้อยามากที่สุดในโลก จนอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้

เนื่องในวัน วันมาลาเรียโลก” วันที่ 25 เมษายน ของทุกปี ซึ่งในปีนี้มีคำขวัญคือ Zero Malaria - Draw the Line Against Malaria หรือ “กำหนดเส้นชัย กำจัดไข้มาลาเรียเป็นศูนย์”

The Coverage ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.เกศรา ณ บางช้าง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยค้นคว้าและพัฒนายา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ร่วมสนทนา

สำหรับ “ศ.ดร.เกศรา” เจ้าของรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2564 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำมาประยุกต์ใช้ และมีส่วนสำคัญในการ “ปราบมาลาเรียดื้อยา” ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ศ.ดร.เกศรา ท่านเดียวกันนี้ ยังเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกจัดอันดับอยู่ใน “Top 2% World’s Scientists” จากการจัดลำดับนักวิจัยสาขาต่างๆ ปี 2020 โดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งพิจารณาจากผลงานและการตีพิมพ์และการอ้างอิงผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ

เชื้อดื้อยา ที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อดื้อยา

ศ.ดร.เกศรา อธิบายว่า งานวิจัยเภสัชวิทยาแบบบูรณาร่วมกับวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อผลักดันงานวิจัยในห้องปฏิบัติการและสัตว์ทดลองให้สามารถนำไปใช้ในผู้ป่วยได้ โดยศึกษาตั้งแต่ขบวนการและกลไกที่ทำให้เกิดโรค กระบวนการในภาพกว้าง ชีววิทยาของโรคทั้งระดับเซลล์และโมเลกุล ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร จะยับยั้งได้อย่างไร กระบวนการการจัดการของร่างกายภายหลังได้รับยาเข้าไปแล้ว (เภสัชจลนศาสตร์) เป็นอย่างไร มีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลกระทบทำให้ระดับยาในร่างกายไม่เพียงพอหรือเกิดการเป็นพิษ

หนึ่งในประสบการณ์สำคัญของ ศ.ดร.เกศรา คือการจัดการกับ “โรคมาลาเรีย” ซึ่งเมื่อ 30 ปีก่อน ประเทศไทยมีปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยามากที่สุดในโลก และสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  จึงไม่สามารถรอการผลิตยาใหม่ ๆ หรือวัคซีนได้  จึงต้องอาศัยเภสัชวิทยาในการปรับปรุงประสิทธิภาพของยาที่มีใช้อยู่

“หลายกรณีบ่งชี้ว่าเป็นเชื้อดื้อยา แต่ในความจริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่เชื้อดื้อยา แต่เกิดจากตัวผู้ป่วยเองที่อาจดูดซึมยาได้ไม่ดี หรือร่างกายกำจัดยาเร็วเกินไปจนทำให้ระดับยาในเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อไม่เพียงพอฆ่าเชื้อ นักเภสัชวิทยาจึงต้องค้นหาปัจจัยต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ให้ได้ว่าความล้มเหลวจากการรักษานี้เกิดจากอะไร และปรับปรุงวิธีการใช้ยาให้ถูกต้อง ไม่ใช่การเปลี่ยนยาไปเรื่อย ๆ โดยไม่ค้นหาสาเหตุ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์การดื้อยารุนแรงขึ้นไปอีก” ศ.ดร.เกศรา ระบุ

เธออธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ยาในขนาดที่เท่ากันกับทุกคนได้ จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพร่างกาย อายุ เพศ น้ำหนัก ภาวะการตั้งครรภ์ การมีโรคอื่น ๆ หรือการใช้ยาอื่น ๆ ร่วมด้วย และพันธุกรรม แม้กระทั่งเชื้อชาติ ซึ่งล้วนแต่มีผลทำให้การออกฤทธิ์ของยาแตกต่างกันไป ดังนั้นในอดีตที่ประเทศไทยยังขาดการนำองค์ความรู้ด้านเภสัชวิทยามาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรค จึงมักมีการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม และส่งผลให้เกิดเชื้อโรคดื้อยาที่ตามมา โดยเฉพาะในยาปฏิชีวนะต่างๆ

จากการต่อสู้กับปัญหาเชื้อโรคมาลาเรียดื้อยามาเป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันสถานการณ์ในประเทศค่อยๆ ดีขึ้น รวมไปถึงผลจากการคิดค้นตัวยาโดยนักวิจัยรางวัลโนเบลชาวจีน ซึ่งใช้พื้นฐานสมุนไพรจีนพัฒนามาเป็นยาซึ่งนับว่าเป็นยาต้านมาลาเรียที่ดีที่สุดในขณะนี้ และสามารถพลิกสถานการณ์โรคมาลาเรียดื้อยาให้อยู่ในสถานะที่ควบคุมได้

พัฒนายารักษา มะเร็งท่อน้ำดีแห่งแรก

เมื่อมาลาเรียเริ่มคลี่คลายลง “ศ.ดร.เกศรา” จึงได้ขยายเป้าหมายไปสู่เรื่อง “โรคมะเร็งท่อน้ำดีซึ่งประเทศไทยเรามีอุบัติการณ์การเกิดสูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ซึ่งมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ได้ปรุงให้สุก ที่ทำจากปลาน้ำจืดเกล็ดขาว เช่น ปลาตะเพียน ปลากะสูบ ที่มักติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ

เมื่อบริโภคไปในร่างกายนานวันจึงมีการพัฒนาจนกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งแม้จะมีการรณรงค์ให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมแต่ก็ยังถือเป็นเรื่องยาก และผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะมาถึงการรักษาเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว ทำให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดนั้นไม่ได้ผล

ในฐานะนักเภสัชวิทยา เธอจึงได้เดินหน้าเริ่มทำการวิจัยเพื่อค้นหายาชนิดใหม่ซึ่งมาจากสมุนไพร โดยภายหลังการทุ่มเทระยะเวลาราว 10 ปี ผ่านขั้นตอนจากในหลอดทดลอง ทดลองในสัตว์ จนปัจจุบันได้เดินหน้าเข้าสู่การทดลองทางคลินิกกับผู้ป่วย

หากเมื่อยาตัวนี้สำเร็จ ก็จะเป็นยามะเร็งท่อน้ำดีชนิดแรกที่ถูกพัฒนาขึ้นในประเทศไทย

ศ.ดร.เกศรา บอกว่า แม้ว่าเภสัชวิทยาจะสามารถลงมือทำงานวิจัยได้ทุกๆ โรค แต่ถ้าเราไปมุ่งในโรคที่เป็นปัญหาหลักของโลกก็อาจไม่สามารถแข่งขันกับงานวิจัยจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีความพร้อมมากกว่าได้ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เธอตั้งเป้าหมางานวิจัยไปที่โรคที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของไทย และภูมิภาคเขตร้อน อย่างเช่น โรคมาลาเรีย และมะเร็งท่อน้ำดี จึงเป็นช่องให้เราสามารถทำงานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์จากงานวิจัยซึ่งไม่ใช่เฉพาะบทความตีพิมพ์ทางวิชาการเพียงเท่านั้น หรือที่เรียกงานวิจัยขึ้นหิ้ง แต่สามารถนำไปใช้ได้จริงในผู้ป่วย

งานวิจัย : ต้องเลือกในสิ่งที่เราแข่งกับเขาได้

“ความสำคัญของการเลือกเส้นทางงานวิจัย เราต้องเลือกอะไรที่สามารถแข่งขันได้ บนศักยภาพที่เรามี ยกตัวอย่างโควิด-19 ซึ่งในส่วนตัวแล้วกลุ่มวิจัยของตนเองคงสู้ไม่ทันเขา สถานการณ์หนักมากทั่วโลก นักวิทยาศาสร์ทั่วโลกจึงให้ความสนใจอย่างมาก ในทางกลับกันโรคเขตร้อนไม่ได้เป็นปัญหาในประเทศที่มีกำลังการวิจัย ทั้งนักวิจัยและบริษัทยาจึงอาจไม่ได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากไม่สามารถสร้างผลกำไรได้คุ้มค่ากับการลงทุน” ศ.ดร.เกศรา ระบุ

สำหรับสถานการณ์เภสัชวิทยาในประเทศไทย “ศ.ดร.เกศรา” บอกว่า ในหลายประเทศ อาทิเช่นอังกฤษ เภสัชวิทยาได้รับความสำคัญนับเป็นหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตหลักสูตรหนึ่ง แต่ในเมืองไทยเภสัชวิทยาจะเป็นเพียงวิชาหนึ่งที่มีแทรกอยู่ในการเรียนในหลักสูตรเภสัชศาสตร์ หรือแพทยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาอื่น ๆ เท่านั้น  

ปัจจุบันสาขาวิชาเภสัชวิทยาในประเทศไทยจึงยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แม้ว่าจะดีขึ้นกว่าเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว แต่การรักษาผู้ป่วยในเมืองไทยบทบาทสำคัญยังอยู่ที่แพทย์เป็นหลัก บทบาทของบุคคลากรอื่นในสาขาที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจน

“ส่วนตัวในฐานะอดีตนายกและกรรมการที่ปรึกษาในปัจจุบันของสมาคมเภสัชวิทยาแห่งประเทศไทย จึงพยายามผลักดันบทบาทเหล่านี้มากขึ้น เพราะหากนักเภสัชวิทยาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับแพทย์มากขึ้น จะทำให้การใช้ยาในการรักษาโรคหนึ่งมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น แก้ไขปัญหาได้ถูกจุด เช่น การประยุกต์ใช้เภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพันธุศาสตร์ เพื่อการจัดขนาดยาให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายหรือแต่ละกลุ่ม รวมไปถึงการบูรณาการร่วมกับศาสตร์อื่น ๆ” ศ.ดร.เกศรา ระบุ