ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ศ.นพ.ธีระวัฒน์” ฉายภาพสถานการณ์โควิดในไทย ทรัพยากรไม่พอ ทั้งยา-แพทย์-สถานที่-อุปกรณ์ แนะเตรียมพร้อมเครื่องช่วยหายใจแบบพกพา คาดในอนาคตต้องใช้โรงพยาบาลสนามดูแลผู้ป่วยใส่ท่อ


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงข้อกังวลและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสสำหรับผู้ป่วยโควิดมีไม่เพียงพอ และการกระจายยายังมีข้อผิดพลาด โดยผู้ป่วย 1 คน จะต้องใช้ยาดังกล่าวอย่างน้อย 70 เม็ด

ฉะนั้น หากถึงเวลาที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยา แต่การกระจายและการเข้าถึงล่าช้า ก็จะทำให้โรคพัฒนาไปถึงขั้นระยะการอักเสบรุนแรงทั่วร่างกายและปอด

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ตัวเลขที่ปรากฏในแต่ละวันในขณะนี้น้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเข้าไม่ถึงการตรวจ ห้องแล็บตรวจไม่ทัน หรือแม้แต่โรงพยาบาลไม่อยากตรวจเนื่องจากถ้าตรวจเจอเชื้อก็จะต้องรับเข้ารักษา แต่เตียงไม่มี ขณะที่สถานการณ์ของโรงพยาบาลทุกแห่งก็ร่อแร่ เต็มไปด้วยผู้ป่วยอาการหนัก ฉะนั้นจำเป็นต้องปรับแก้กฎระเบียบและปรับศูนย์ประสานหาเตียงให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

“ห้องความดันลบเรามีไม่เพียงพออยู่แล้ว ขณะนี้ต้องใช้ห้อง ICU ธรรมดาในการดูแลผู้ติดเชื้อ และในที่สุดก็จะต้องใช้หอผู้ป่วยธรรมดาในการรับมือกับผู้ป่วยวิกฤตใส่เครื่องช่วยหายใจ และลำดับต่อไปคือการใช้โรงพยาบาลสนาม ซึ่งเดิมใช้ดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ แต่หลังจากนี้โรงพยาบาลสนามจะถูกนำมาใช้ผู้ป่วยอาการหนัก ไปจนถึงผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้แพทย์ด้านโรคติดเชื้อ แพทย์ด้านวิกฤต แพทย์ปอด-หัวใจ-ไต-อวัยวะอื่นๆ มีไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย ทำให้ต้องใช้แพทย์อายุรกรรมทั่วไป รวมถึงแพทย์ประจำบ้านที่กำลังฝึกอบรมในโรงเรียนแพทย์มาช่วยดูแล ซึ่งในอนาคตอาจต้องใช้นิสิตแพทย์มาช่วยด้วย

สำหรับอุปกรณ์ในปัจจุบัน พบว่าเครื่องช่วยหายใจที่ต้องมีระบบออกซิเจนเชื่อมต่อกับเครื่อง ในขณะนี้เริ่มไม่เพียงพอ ในหลายจังหวัดใช้เครื่องช่วยหายใจแบบโบราณ Bird Respirator ที่ยังต้องต่อออกซิเจน

“คำถามคือเมื่อถึงเวลาที่ผู้ป่วยต้องใส่ท่อ นอนอยู่ในโรงพยาบาลสนาม หรือเตียงสนามในสนามกีฬาจะมีเครื่องช่วยหายใจแบบนี้ได้หรือไม่ คำตอบก็คือไม่ได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว และว่า จำเป็นต้องเร่งหาเครื่องช่วยหายใจฉุกเฉินชนิดพกพาแบบไม่ต้องเชื่อมต่อกับระบบออกซิเจนไว้ให้พร้อม เมื่อผู้ป่วยใส่ท่อจะสามารถปั๊มอากาศเข้าได้