ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายภาคประชาสังคมทวงถาม "กรมทรัพย์สินทางปัญญา" จี้ปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตร "ยาฟาวิพิราเวียร์" ทันที ห่วงไทยไม่มีใช้รักษาโควิด-19 ย้ำหากไม่ยกคำขอฯ รัฐบาลต้องประกาศใช้ซีแอล


มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ตัดสินใจยกคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์โดยด่วน พร้อมเปิดทางให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เร่งผลิต หลังจากที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 อีกระลอก และจำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์อีกจำนวนมาก จนเริ่มมีคำสั่งให้โรงพยาบาลต่างๆ ใช้อย่างประหยัด

สำหรับการออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ นับเป็นการทวงถามกรมทรัพย์สินทางปัญญาอีกครั้ง หลังจากที่ทางเครือข่ายเคยยื่นเอกสารข้อมูลที่ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ควรได้สิทธิบัตรให้กับอธิบดีกรมฯ ไปแล้วเมื่อ 17 ก.ค. 2563 และได้เข้าพบกับอธิบดีเพื่อให้เร่งการพิจารณาเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564  
 
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ทางกรมฯ ยังไม่มีคำตัดสินออกมา และยังให้โอกาสบริษัทยาแก้ไขเอกสารคำขอได้ ซึ่งเป็นการซื้อเวลาออกไปอีก ดังนั้นหากการพิจารณาคำขอสิทธิบัตรยังล่าช้าอยู่เช่นนี้ ตัวแทนภาคประชาสังคมจะเรียกร้องรัฐบาลให้ประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐหรือมาตรการซีแอล กับยาฟาวิพิราเวียร์ อย่างที่เคยประกาศใช้ในปี 2549-2550 เพื่อนำเข้าหรือผลิตยาเอง และนำมารักษาผู้ป่วย

นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของ อภ. เองมีความพร้อมที่ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ โดยได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนยาเบื้องต้นกับสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ไปแล้ว และคาดว่าจะได้รับทะเบียนตำรับยาในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ที่จะผลิตโดย อภ. หรือที่ขายแล้วโดยบริษัทยาในอินเดียจะมีราคาถูกว่าที่ไทยซื้ออยู่อย่างน้อยมากกว่า 50% ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ที่ไทยสั่งล็อตต่อไปจะมาจากญี่ปุ่นภายในเดือน เม.ย.นี้ 

"ทว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่เพียงไม่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตโรคระบาด แต่กำลังทำสิ่งที่สวนทางกับโลก เพราะในร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่กรมยกร่าง ได้แก้ไขให้ใช้มาตรการซีแอลได้ยากขึ้น ขณะที่ภาวะวิกฤตโควิด-19 แสดงให้เห็นแล้วว่าการผูกขาดด้วยสิทธิบัตรเป็นปัญหา ซึ่งในหลายประเทศ เช่น ชิลี อิสราเอล เอกวาดอร์ และรัสเซีย ประกาศใช้มาตรการซีแอลกับยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ป้องกันและรักษาโควิด 19 แล้ว" นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว

นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่เยอรมนี แคนาดา อินโดนีเซีย ออก พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ให้แก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร เพื่อลดขั้นตอนให้ประกาศใช้มาตรการซีแอลได้ง่ายขึ้น ส่วนแอฟริกาใต้ และอินเดีย ยื่นข้อเสนอต่อองค์การการค้าโลก ให้ระงับการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการเข้าถึงยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ ที่ใช้ต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งสมาชิกองค์การการค้าโลกกว่าครึ่งสนับสนุน

ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงกระทำ โดยเฉพาะกรณีนี้เป็นถึงวิกฤตของประเทศ รัฐบาลต้องกล้าประกาศใช้ซีแอล เราจะหวังพึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์และมองการแก้ปัญหาของประเทศอย่างฉลาดกว่านี้