ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักระบาดวิทยา ระบุ ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น อาจหลีกเลี่ยงการแยกตัวที่บ้านไม่ได้ แต่แนวทางนี้จะดีในระยะสั้น แต่ส่งผลเสียต่อชุมชนในระยะยาว


ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาระบาดวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า หากในอนาคตมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแยกตัว (Isolation) หรือการกักตัว  (Quarantine) ที่บ้าน อย่างไรก็ดีการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) จะได้ผลดีเพียงในระยะสั้นเท่านั้น แต่จะส่งผลเสียต่อชุมชนในระยะยาว

ทั้งนี้ เนื่องจากแม้ว่าผู้ป่วยบางรายจะรักษาตัวที่บ้านก็จริง แต่ก็อาจมีช่องโหว่ในการแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างได้ ตรงนี้อาจทำให้เกิดภาระของครัวเรือนได้ในอนาคต

สำหรับ “โรงพยาบาลสนาม” อาจไม่ใช่ทั้ง 2 อย่าง นั่นเพราะโดยทฤษฎีแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อจำเป็นต้องอยู่ในห้องส่วนตัวไม่ร่วมกับผู้อื่น ทว่ากรณีโรงพยาบาลสนามเป็นการนำผู้ติดเชื้อมาอยู่ร่วมกัน แต่ทั้งหมดเป็นไปตามข้อจำกัด เพราะสถานการณ์จริงเราไม่มีโรงพยาบาลหรือสถานที่ หรือกำลังคนรองรับผู้ติดเชื้อมากขนาดนั้น

ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า การแยกตัวผู้ป่วยจำเป็นต้องคำนึงว่าผู้ป่วยต้องไม่แพร่เชื้อ และผู้ป่วยต้องไม่ได้รับอันตรายจากโรค ฉะนั้นถ้าผู้ป่วยติดเชื้อและอาการน้อย และแยกตัวรักษาที่บ้าน ก็มีโอกาสทำให้เชื้อหายไปได้ เพียงแต่จะกันการแพร่เชื้อไม่ได้ ดังนั้นการที่ให้ผู้ป่วยอยู่ในที่เดียวกัน และรับบริการทางเดียวจะสามารถควบคุมเชื้อได้ดีกว่า เนื่องจากมีแพทย์-เจ้าหน้าที่คอยควบคุม

“แม้ผู้ป่วยจะแยกตัวได้จริง แต่การที่เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปเก็บเชื้อตลอดระยะเวลา 14 วันนั้นอาจไม่สะดวก ซึ่งในอนาคตถ้ายังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น การแยกตัวหรือกักตัวที่บ้านนั้นก็อาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว

ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในสถานการณ์นี้ คือต้องชะลอและหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อให้ได้เท่านั้น