ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลวิจัย พบ “บุหรี่ไฟฟ้า” สร้างความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และมีโอกาสป่วยรุนแรงมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 5 เท่า


ศ.ดร.นพ.ประกิตพันธุ์ ทมทิตชงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ในฐานะเลขาธิการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรม ราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 5 เท่า และถ้าเป็นผู้ที่สูบทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า จะมีแนวโน้มติดเชื้อได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 6.8 เท่า มากไปกว่านั้นคือ ทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะมีอาการป่วยรุนแรงมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เลยถึง 5 เท่า

ศ.ดร.นพ.ประกิตพันธุ์ กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าว เป็นผลมาจากการศึกษาร่วมกับศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) จนได้พบงานวิจัยจาก Stanford University School of Medicine และ University of California, San Francisco ซึ่งเผยแพร่ใน Journal of Adolescent Health เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563

การศึกษาดังกล่าว ได้สำรวจแบบสอบถามในกลุ่มประชากรที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและเข้ารับการตรวจโควิด-19 ในช่วงอายุระหว่าง 13-24 ปี จำนวน 4,351 ราย ที่อาศัยอยู่ใน 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อ้างอิงผลการศึกษาในประเทศจีนและย้ำเตือนถึงอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ของผู้สูบบุหรี่ที่มีมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 14 เท่า

“ความเสี่ยงดังกล่าวไม่ต่างจากที่กรมควบคุมโรคยืนยันว่าการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงการติดและแพร่เชื้อไวรัสโควิด จากการสัมผัส ส่งต่อ หรือใช้ อุปกรณ์สูบร่วมกันได้ ที่สำคัญคือไม่ว่าจะเป็นบุหรี่แบบใด ก็ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของปอด” ศ.ดร.นพ.ประกิตพันธุ์ กล่าว

ศ.ดร.นพ.ประกิตพันธุ์ กล่าวอีกว่า เมื่อบุหรี่สร้างความเสียหายต่อปอด ทำให้ผู้สูบบุหรี่จะมีอาการหนักและฟื้นตัวจากโควิด-19 ช้ากว่าผู้ไม่สูบ ซึ่งในอนาคตเราอาจได้เห็นการผ่าตัดเปลี่ยนปอดในผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นเช่นเดียวกับการผ่าตัดเปลี่ยนปอดจากโควิด-19 ที่มีแล้วนับ 10 รายทั่วโลก

“พยาธิสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจากบุหรี่ไฟฟ้าและโควิด-19 เป็นแบบเดียวกัน คือเกิดการอักเสบจนเนื้อเยื่อปอดแข็ง ไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ฉะนั้นคำแนะนำคือในช่วงโควิดเวฟ 3 นี้ ควรเลิกสูบทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าทันที” ศ.ดร.นพ.ประกิตพันธุ์ กล่าว