ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความท้าทายในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ภายใต้ภูมิทัศน์ด้านสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป คือโจทย์ใหญ่ที่คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังให้ความสำคัญอย่างถึงที่สุด

นอกจากวิสัยทัศน์ของ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ป้ายแดง ที่ต้องการให้ สปสช. กลับไปหาประชาชน-ผู้ใช้สิทธิ เพื่อรับทราบปัญหาที่แท้จริงมากขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ การยกระดับคุณภาพบัตรทองไปสู่มาตรฐานใหม่ภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด

ความตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษ หัวข้อ การปฏิรูปขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพในเขตพื้นที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี โดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ที่ฉายทิศทางให้กับคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) และคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2564 ตอกย้ำถึงการให้ความสำคัญดังกล่าวเป็นอย่างมาก

ทพ.อรรถพร ฉายภาพว่าความท้าทายของการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในอีก 4 ปี ข้างหน้าว่า มีด้วยกันหลายมิติ เริ่มตั้งแต่ ความครอบคลุมประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังมีประชาชนบางกลุ่มที่ตกหล่น และมีข้อจำกัดในการใช้สิทธิอยู่จำนวนหนึ่ง ที่ สปสช.จำเป็นต้องผลักดันให้เขาเหล่านั้นเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพของรัฐให้ได้

นอกจากนี้ยังมีความท้าทายในมิติของ “กลุ่มคนชนชั้นกลางที่ยังไม่เชื่อมั่นระบบบ” ตลอดจนการก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งจะทำให้มีผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงความท้าทายเกี่ยวกับ “การเข้าถึงบริการที่สำคัญน้อย” อาทิ ผู้ป่วยโรคร้ายแรง 

ทพ.อรรถพร บอกอีกว่า ที่ผ่านมา สปสช. ได้ใช้งบประมาณไปพอสมควรกับงานด้าน ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) แต่เมื่อพิจารณาผลสัมฤทธิ์แล้วพบว่ายังมีไม่มาก อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญและเป็นเรื่องที่ นพ.จเด็จ เลขาธิการ สปสช. รวมทั้งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เน้นย้ำในหลายวาระ ฉะนั้นหลังจากนี้ สปสช.จะต้องทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น 

ขณะเดียวกัน ยังมีความท้าทายอื่นๆ ตามบริบทความเปลี่ยนแปลงของสังคมและยุคสมัย เช่น นวัตกรรมใหม่ๆ เทคโนโลยี การวิจัย ระบบยา ระบบการแพทย์ดิจิทัล ระบบการแพทย์ทางไกล ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องสอดประสานกับระบบบริการ เพื่อให้เกิดการกระจายและการเข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้น

สำหรับ การบริหารจัดการองค์กร ทพ.อรรถพร บอกว่า เลขาธิการ สปสช. ได้ให้นโยบายเน้นหนักเรื่องของการสร้างระบบและกลไกการตรวจสอบการเบิกจ่าย ที่จะต้องตรวจจับได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และทันเวลา 

ส่วนเรื่อง การเงินการคลังจะเน้นไปที่การกระจายความเสี่ยงของหน่วยบริการ การควบคุมต้นทุน การต่อรองราคา การจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งหมดเพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด สุดท้ายที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ กระบวนการการมีส่วนร่วม โดยการทำงานหลังจากนี้จะเดินหน้าไปพร้อมกับเพื่อนภาคี ทั้งหน่วยบริการ องค์การวิชาชีพ ประชาชน รัฐบาล เพื่อให้เกิดการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพอย่างแท้จริง

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า เลขาธิการ สปสช. ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า สร้างความไว้วางใจ ใช้หลักธรรมาภิบาล และทำงานอย่างมืออาชีพ ซึ่งการจะดำเนินการตามวิทัศน์ดังกล่าวก็จะมีองค์ประกอบในการดำเนินการ 

อาทิเช่น  จัดกลไกสนับสนุนการมีส่วนร่วมของกลุ่มต่าง และการตอบสนองเชิงรุก โดยเป็นระบบบริหารให้เกิดการมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ การยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิที่เน้นให้ประชาชนทุกคนมีแพทย์ประจำครอบครัว เพิ่มความสะดวกในการรับบริการ และลดความแออัด การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร จัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพให้หน่วยบริการ 

การประมวลผลเร็ว จ่ายเงินเร็ว และถูกต้อง และจัดระบบการแก้ปัญหาที่มีผลต่อระบบ โดยเฉพาะปัญหากลุ่มเปราะบาง การเข้าไม่ถึงบริการ รวมไปถึงจัดระบบการทำงานกับคณะกรรมการและกลไกอภิบาลทุกระดับ ปรับสร้างองค์กร ทบทวนบทบาทเขต และจัดระบบที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองปัญหาของประชาชนพื้นที่ 

“สิ่งที่ระดับเขตได้เปรียบส่วนกลางก็คือมีโอกาสใกล้ชิดกับชาวบ้าน และมีส่วนร่วมจากในพื้นที่ รู้จักโรงพยาบาล-ผู้นำชุมชนได้มากกว่าส่วนกลาง จึงสามารถค้นหาสิ่งดีๆ จากในพื้นที่ หรือระบบบริการที่สามารถนำมาทำเป็นต้นแบบของนโยบายต่างๆ ได้ ฉะนั้นถ้าพื้นที่สะท้อนได้อย่างรวดเร็ว ส่วนกลางก็จะปรับได้รวดเร็วขึ้น และระบบก็จะดำเนินไปได้ดีขึ้น ทพ.อรรถพร ระบุ