ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เทคโนโลยีการสื่อสารและระบบส่งต่อข้อมูลแบบดิจิทัล ถูกนำมาใช้สนับสนุนนโยบายการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) 

ล่าสุดในเขตสุขภาพที่ 10 ซึ่งครอบคลุม 5 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ก็มีการพัฒนาระบบ Smart-Refer (ระบบส่งต่อผู้ป่วย) เพื่อใช้ในนโยบาย “ปฐมภูมิรักษาที่ไหนก็ได้” หรือ “30 บาท รักษาทุกที่”

โปรแกรมดังกล่าว จะช่วยให้การส่งต่อและเชื่อมร้อยข้อมูลของผู้ป่วยในเขตสุขภาพที่ 10 ทั้ง 5 จังหวัดเข้าด้วยกัน ช่วยให้เกิดการทำงานแบบรวดเร็ว ไร้รอยต่อ ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนและลดความสับสนของหน่วยบริการ

“The Coverage” ได้ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อพูดคุยกับผู้พัฒนาระบบ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในต้นแบบการทำงานให้กับเขตสุขภาพอื่นๆ เพื่อยกระดับการให้บริการได้

นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี (สสจ.อุบลราชธานี) เล่าว่า ปกติแล้ว หน่วยบริการใน จ.อุบลราชธานี หรือในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 จะต้องใช้ “ใบส่งตัว” ที่เป็นกระดาษในการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษา 

นั่นหมายความว่า จะต้องบันทึกข้อมูลทุกอย่างลงในใบส่งตัวกระดาษ จากนั้นจึงจะนำข้อมูลเหล่านั้นเข้าสู่โปรแกรมอิเล็กทรอนิคไฟล์อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน

อย่างไรก็ดี ตามหลักการแล้ว ข้อมูลเหล่านั้นควรต้องถูกส่งไปยังหน่วยบริการปลายทางทันที เพื่อให้หน่วยบริการที่รับส่งต่อมีข้อมูลในการรักษาผู้ป่วยต่อเนื่อง โดยปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ก็จะมีโปรแกรมส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยอยู่แล้ว เช่น Thai-Refer แต่ทว่าอาจยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้

นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี (สสจ.อุบลราชธานี)

ด้วยเหตุผลนี้ เขตสุขภาพที่ 10 จึงร่วมกันระดมสมองพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลบริการเขต 10 (Smart-Refer) ขึ้น โดยใช้เวลาพัฒนาร่วม 2 ปีเต็ม โดยระบบนี้จะส่งต่อได้ทั้งข้อมูลของผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยใน ครอบคลุมตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน ไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ได้อย่างไร้รอยต่อ (Seamless) 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของผู้ป่วยที่จะถูกบันทึกในระบบจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ป่วยก่อนเป็นอันดับแรก เพราะข้อมูลเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นสิทธิส่วนบุคคล

“การพัฒนาระบบนี้ประจวบเหมาะกับการประกาศนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจำเป็นต้องเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน ตรงนี้ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ซึ่ง Smart-Refer จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยบริการทุกจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 10 และดึงเข้าไปเก็บไว้ในส่วนกลางได้” นพ.สุวิทย์ ระบุ

นพ.สุวิทย์ เล่าต่ออีกว่า นอกจากจะส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยแล้ว ระบบ Smart-Refer ยังสามารถตรวจสอบความพร้อมการให้บริการของหน่วยโรงพยาบาลต่างๆ ได้ เช่น ปริมาณเตียงเพียงพอหรือไม่ คิวรอการรักษามากน้อยเพียงใด ไม่เพียงแค่นั้น ระบบยังสามารถบันทึกความพึงพอใจ ข้อร้องเรียนของผู้ป่วยต่อสถานบริการต้นทาง เพื่อประเมินมาตรฐานได้อีกด้วย

“ระบบ Smart-Refer ยังสามารถส่งต่อข้อมูลไปที่กระทรวงสาธารณสุขได้ ถ้าเขตสุขภาพใดสนใจที่จะนำระบบนี้ไปใช้ก็สามารถประสานมาได้ ทางเขตจะส่งทีมพัฒนาเข้าไปติดตั้งให้ ซึ่งปัจจุบันทางเขตสุขภาพที่ 8 ก็ได้มีการขอระบบดังกล่าวเพื่อนำไปใช้แล้ว” สสจ.อุบลราชธานี ระบุ

สำหรับการทำงานของ Smart-Refer ได้รับคำอธิบายจาก นางหรรษา ชื่นชูผล หัวหน้ากลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข จ.อุบลราชธานี 

นางหรรษา อธิบายว่า ทุกวันนี้ โรงพยาบาลหรือหน่วยปฐมภูมิในเขตสุขภาพที่ 10 จะมีโปรแกรมที่ใช้กันอยู่ 8 โปรแกรม ซึ่งข้อดีของ Smart-Refer นั้น ไม่ได้จำกัดว่าแต่ละโรงพยาบาลจะใช้ระบบใดอยู่ เพราะ Smart-Refer จะทำหน้าที่ช่วยดึงข้อมูลจากระบบมาตรฐานเหล่านั้น ออกมาใช้เป็นมาตรฐานกลาง โดยข้อมูลที่ถูกดึงออกมาก็จะไปอยู่ในส่วนกลางของเขต ที่สามารถประมวลออกมาเป็นรายงานให้กับผู้บริหาร หรือผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นนำไปพัฒนาต่อได้ 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังมีความต้องการจากหน่วยบริการเพิ่มเติม เช่น ใบส่งตัวเฉพาะโรค ซึ่งระบบในขณะนี้ยังเป็นเพียงตัวกลาง ก็จะมีบางโรค เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้องรัง โรคหลอดเลือดสมองก็จะมีใบส่งตัวเฉพาะ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่ทางทีมจะต้องนำไปพัฒนาต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ระบบ Smart-Refer นี้จะเริ่มนำร่องในระบบปฐมภูมิ โดยเริ่มที่ จ.อุบลราชธานี ก่อน  ขณะนี้มีอำเภอที่ใช้ระบบนี้ไปแล้วกว่า 12 อำเภอ ซึ่งก็จะมีการประเมินผลอีกครั้งเพื่อขยายให้เต็มพื้นที่ก่อนจะดำเนินขยายต่อไปให้ครอบคลุมทั่วทั้งเขตสุขภาพที่ 10