ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์ ยืนยันแนวทางการให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เป็นเพียงการเตรียมการไว้ล่วงหน้าหากเกิดระบาดระลอกใหม่ มั่นใจรอบนี้ผ่านวิกฤตได้-ผู้ป่วยทุกคนได้เตียงภายใน 2 วัน


นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนวทางการให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เป็นเพียงการเตรียมการไว้ล่วงหน้าในกรณีที่เกิดการระบาดที่รุนแรงกว่านี้เท่านั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ใช้และคาดว่าจะไม่ได้ใช้ ยืนยันว่าสามารถผ่านวิกฤตรอบนี้ไปได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2564 มีการส่งต่อเอกสาร "แนวทางการพิจารณาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เหมาะสมสำหรับการแยกตัวที่บ้าน (home isolation) ลงวันที่ 18 เม.ย. 2564" ผ่านทางสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก โดยแนวทางดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชน และได้รับการสนับสนุนจาก Influencer ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากกังวลว่าโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม รวมถึง Hospitel จะไม่เพียงพอ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีเตียงรักษาให้หมดไปภายใน 2 วัน โดยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อที่ยังหาเตียงไม่ได้กว่า 600 ราย ซึ่งในระหว่างที่รอจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อสอบถามอาการอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากผู้ป่วยไปรับบริการตรวจหาเชื้อจากคลีนิก หรือรถเคลื่อนที่แล้วกลับไปรอฟังผลที่บ้าน เมื่อรู้ผลว่าติดเชื้อแล้วไม่มีการส่งต่อเข้ารักษา

"ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพ (กทม.) และปริมณฑล มีการเพิ่มเตียงอีก 500 เตียง รวมเป็น 1,656 เตียง ใช้งานแล้ว 1,275 เตียง ยังเหลือว่างอยู่ 381 เตียง นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียม โรงพยาบาลสนาม และ Hostpitel อีกเป็นจำนวนมาก" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า แนวทางการบริหารจัดการเตียงรองรับวิกฤตโควิด-19 คือ 1. กรณีผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุกที่มีระดับความรุนแรงสีเขียว มอบหมายให้ กทม. รับเข้าไว้โรงพยาบาลสนาม 2. กรณีผู้ติดเชื้อจากระบบบริการทุกระดับความรุนแรง กรมการแพทย์ดำเนินการ โดยความรุนแรงระดับสีเขียวรับไว้ใน Hostpitel ส่วนความรุนแรงระดับสีเหลือง-แดง รับไว้ในโรงพยาบาล

3. โรงพยาบาลทุกสังกัดให้สำรอง ICU โดยกรมการแพทย์เป็นหน่วยบริหารจัดการ ซึ่งจะมีการบูรณการบุคลากร 4. ส่วนภูมิภาค และปริมณฑล อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ศูนย์เอราวัณจะรับผิดชอบในการเคลื่อนย้ายและจัดส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลต่างๆ