ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.จเด็จ ประกาศนโยบายชัด ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.ต้องกลับไปหาชาวบ้าน-ผู้ป่วย ให้มากขึ้น เพื่อรับรู้ปัญหาและความต้องการที่แท้จริง


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในงานเสวนา “ลัดเลาะเรื่องร้อยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2 : ทศวรรษที่ผลิบานในโมงยามแห่งความคาดหวัง” ภายในงานเปิดตัวหนังสือ “ระหว่างบรรทัด” ตอนหนึ่งว่า ปัญหาพื้นฐานของทุกประเทศคือจะมีประชาชนบางกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ และมักจะมีผู้ที่ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล แต่ในประเทศไทยกลับสามารถขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้สำเร็จเป็นลำดับต้นๆ ของโลก จนเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ยังมีประชาชนบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำเป็นต้องเข้าไปแก้ไขอย่างเร่งด่วนด้วยการสร้างกลไกเชิงรุก เพื่อที่จะรับฟังปัญหาของชาวบ้านให้ได้มากยิ่งขึ้น ในฐานะที่ตัวเองเกี่ยวข้องกับระบบบัตรทองมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี และกำลังจะนำพาระบบบัตรทองเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 จึงตั้งใจที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลวและความท้าทายที่ยังมีอยู่

“สิ่งสำคัญที่ทำให้ สปสช.เติบโตขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรารับรู้ปัญหาความทุกข์ของชาวบ้าน ฉะนั้นในฐานะผู้บริหาร สปสช. ผมจึงได้บอกกับเจ้าหน้าที่ทุกคนว่าเราควรกลับไปใกล้ชิดชาวบ้านเพื่อให้เห็นถึงปัญหาและความต้องการในปัจจุบันและยุคถัดไป” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ ยกตัวอย่างว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) ได้พูดคุยกับ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา อดีตเลขาธิการ สปสช. ว่าให้ สปสช. ลองกลับไปคิดดูและแก้ปัญหาว่าเหตุใดผู้ป่วยจึงต้องกลับไปเอาใบส่งตัวทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาล ตรงนี้สะท้อนเรื่องการใกล้ชิดกับชาวบ้าน มองเห็นปัญหา เพื่อแก้ไขอย่างตรงจุด

“จากประโยคนี้ทำให้ผมต้องกลับไปมองว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ชาวบ้านมีปัญหาอย่างไร เพราะเมื่อพบปัญหาแล้วเราก็จะแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือการเกิดขึ้นของนโยบายยกระดับบัตรทองโรคมะเร็งไปรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อมโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวในขณะนี้” นพ.จเด็จ กล่าว