ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.เดินหน้าดูแล “คนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” มอบหมาย สปสช. ประสาน สธ. เร่งเสนอจัดตั้ง “กองทุนค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุข” ดูแลกลุ่มตกหล่นระหว่างรอการพิสูจน์สิทธิ


ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานฯ ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อพิจารณาเร่งรัดการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่อง “การจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขสำหรับคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” เพื่อคุ้มครองการเข้าถึงบริการสาธารณสุขให้กับคนไทยกลุ่มนี้ 

สำหรับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว จะเป็นการดูแลด้านสุขภาพสำหรับคนไทยที่อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สิทธิสถานะ ที่เป็นการดูแลเพื่อให้คนกลุ่มนี้ที่เป็นคนไทยด้วยกัน สามารถเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นในระหว่างการพิสูจน์สถานะได้ รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการที่ให้บริการ

"คนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนก็เป็นคนไทยด้วยกัน เกิดในประเทศไทย เพียงแต่ด้วยปัญหาบางอย่างทำให้เขาตกหล่นที่จะได้รับสิทธิความเป็นคนไทยเหมือนกับคนอื่นๆ เช่น ไม่ได้รับการแจ้งเกิด บัตรประชาชนสูญหาย และถูกย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน เป็นต้น ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีเลข 13 หลัก ไม่มีบัตรประชาชนรองรับ" นายอนุทิน กล่าว 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การดำเนินการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามแผนปฏิบัติราชการของ สปสช. ระยะ 5 ปี พ.ศ.2561-2565 ในการดูแลประชากรกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ และเป็นผลจากการดำเนินงานของ คณะทำงานบูรณาการพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะ ภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ภายหลังจากที่บอร์ด สปสช. ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 ที่มีผู้แทนจาก 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ ส่งผลให้มีการขับเคลื่อนคุ้มครองสิทธิให้กับคนไทยที่ยังตกหล่นในการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การพัฒนาแกนนำเครือข่ายภาคประชาชน ศูนย์ประสานงาน/หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระตาม ม.50 (5) เพื่อสำรวจและช่วยเหลือบุคคลในพื้นที่ใน 8 จังหวัดนำร่อง

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแกนนำเครือข่ายพระภิกษุและอาจารย์ โรงเรียนพระปริยัติธรรม ช่วยเหลือพระภิกษุและสามเณรที่มีปัญหาสถานะในพื้นที่เขต 1 เชียงใหม่ การพิสูจน์สถานะบุคคลด้วยการตรวจ DNA โดยความร่วมมือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานในพื้นที่ และขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายหน่วยบริการผ่านสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย และการสนับสนุนผู้ยากไร้เข้ารับการพิสูจน์สถานะจากความร่วมมือของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พม.) รวมถึงพัฒนาโปรแกรมช่วยเหลือผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการดำเนินการใน 8 จังหวัดนำร่อง พบว่ามีผู้ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนรวม 267 ราย ในจำนวนนี้พิสูจน์สิทธิและได้รับสิทธิแล้ว 162 ราย เสียชีวิตจากความเจ็บป่วยระหว่างพิสูจน์สถานะ 5 ราย