ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ผ่านมาหลายคนอาจเคยได้พบเห็นกับข่าวคราวเรื่องสรรพคุณของ "น้ำมะพร้าว" ซึ่งมีการเผยแพร่ในทำนองของการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย จนก่อเกิดเป็นกระแสการบริโภคน้ำมะพร้าวที่เพิ่มขึ้นมาอย่างคึกคัก

เพื่อให้ความชัดเจนในเรื่องนี้มากขึ้น สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธาณสุข (สธ.) ได้ทำการศึกษา "น้ำมะพร้าวสด" และ "น้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท" เพื่อตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย รวมถึงวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการทั้งในส่วนของ แร่ธาตุ วิตามิน น้ำตาล ฮอร์โมน ความเป็นกรดด่าง และการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

สำหรับน้ำมะพร้าวที่นำมาศึกษาชนิดละ 7 ตัวอย่าง ในส่วนของน้ำมะพร้าวสด ได้มีการเก็บจากร้านค้าในพื้นที่จังหวัดราชบุรี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ขณะที่ตัวอย่างน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท นำมาจากร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า

จากผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่าในน้ำมะพร้าวสดนั้นมีปริมาณแร่ธาตุทั้ง แคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม และคลอไรด์ ที่มากกว่าน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท เช่นเดียวกับวิตามิน บี2 ที่พบในน้ำมะพร้าวสด แต่ตรวจไม่พบในน้ำมะพร้าวที่ผ่านการแปรรูป เนื่องจากวิตามิน บี2 ละลายน้ำได้ดีและถูกแสงสว่างทำลายได้ง่าย

ขณะที่ข้อมูลน้ำตาล พบว่าในน้ำมะพร้าวมีน้ำตาลอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ กลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ส่วนค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) นั้นพบอยู่ในช่วง 4.9-5.4 และจากการตรวจสอบทุกตัวอย่างทั้งหมดนั้น ไม่พบกับการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

เมื่อมาถึงประเด็นสำคัญคือเรื่อง "ฮอร์โมนเพศ" ในน้ำมะพร้าว ได้พบว่าทุกตัวอย่างที่ตรวจสอบนั้นมีองค์ประกอบของ ฮอร์โมนเอสตราไดออล (estradiol) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของเอสโตรเจน (estrogen) และ เทสโทสเตอโรน (testosterone) อยู่จริง แต่พบว่าฮอร์โมนทั้งคู่นั้นมีปริมาณน้อยกว่า 1.0 และ 0.2 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า ผลการวิเคราะห์ทำให้พบว่าในน้ำมะพร้าวนั้นมีปริมาณ estradiol และ testosterone อยู่น้อยมาก หากเทียบกับฮอร์โมนเพศที่ถูกผลิตขึ้นในร่างกายมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ก็มีงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคน้ำมะพร้าวต่อระบบสืบพันธุ์ ซึ่งพบว่าน้ำมะพร้าวสามารถส่งผลกระตุ้นระบบต่อมไร้ท่อที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเพศ และมีผลช่วยให้อวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงและชาย พร้อมทั้งช่วยให้สเปิร์มแข็งแรงขึ้น

"ดังนั้นการดื่มน้ำมะพร้าวจึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งจากหลายๆ ปัจจัยในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ และอาจเป็นผลจากแร่ธาตุหลายชนิดในน้ำมะพร้าว เช่น โพแทสเซียม สังกะสี แมงกานีส และวิตามินที่ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานดียิ่งขึ้น ส่งผลให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ

ทั้งนี้จากการศึกษาดังกล่าว นพ.ศุภกิจ ยังได้อธิบายอีกว่า ในน้ำมะพร้าวนั้นมีแร่ธาตุและเกลือแร่ในปริมาณสูง ส่วนปริมาณน้ำตาลในน้ำมะพร้าวสด จะมีกลูโคสสูงกว่าน้ำตาลชนิดอื่น ซึ่งปริมาณน้ำตาลจะขึ้นอยู่กับอายุของลูกมะพร้าว โดยมะพร้าวอ่อนจะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่ามะพร้าวแก่ ขณะที่มะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท จะมีซูโครสสูงกว่า ซึ่งอาจเป็นน้ำตาลทรายที่เติมลงไปในระหว่างกระบวนการผลิต เพื่อปรุงแต่งรสชาติหรือเพิ่มความหวาน

ขณะเดียวกัน เนื่องจากการบริโภคน้ำมะพร้าว 1 ผล หรือ 1 ขวด (ประมาณ 200-300 มิลลิลิตร) จะได้รับน้ำตาล 7-25 กรัม ดังนั้นการบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมจึงไม่ควรเกิน 1 ผลต่อวัน ซึ่งจะช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดี ตามคำแนะนำของกรมอนามัยที่ว่าควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 32 กรัมต่อวัน

"น้ำมะพร้าวจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคไตเสื่อม เพราะน้ำมะพร้าวจะไปกระตุ้นการขับปัสสาวะ เมื่อร่างกายขาดน้ำคนที่เป็นโรคไตอาจจะหัวใจวายได้ และคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไป ก็อาจสร้างปัญหาให้หัวใจและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม" นพ.ศุภกิจ แนะนำทิ้งท้าย